“คุณจะวาดรูปไม่สวยคุณก็ทำงานศิลปะได้ คุณต้องเชื่อในสิ่งที่คุณทำแล้วมันไม่สวย แต่ว่ามันสื่อสารอะไร นั่นคือจุดสำคัญ”
ศิลปะแนว conceptual คือศิลปะที่เน้นความคิดเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากกว่าความสวยงาม ซึ่งเราอาจไม่เคยเห็นโรงเรียนสอนศิลปะแนว conceptual มาก่อนในประเทศไทย แต่ในปีนี้ได้มีโรงเรียน brick by brick ที่เป็นโรงเรียนสอนถ่ายภาพเชิง conceptual เกิดขึ้น
The MATTER จึงชวน อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้ก่อตั้งโรงเรียน brick by brick มาคุยกันถึงเสน่ห์ของศิลปะแนว conceptual พร้อมทั้งความเป็นมาและจุดประสงค์ในการจัดตั้งโรงเรียน
The MATTER : ทำไมเราต้องเรียนศิลปะ
อาทิตย์ : สำหรับเราศิลปะมันคือการเรียนรู้ชีวิต มันสอนให้เราคิด สอนให้คุณสังเกตทุกอย่างในชีวิต อย่างเราถ่ายสตรีท เราก็จะสังเกตอะไรในชีวิตมากขึ้น พอสังเกต ก็จะเรียนรู้ คุณอาจเอาไปคิดทำ ต่อยอด เห็นโอกาส หรือเห็นตัวตนอะไรมากขึ้นในชีวิต มันทำให้เรารู้ว่าจะทำยังไงกับชีวิต ต้องใช้ชีวิตยังไง และเราว่ามันคือการบำบัด ยิ่งเรารู้สึกเครียด ยิ่งเราเห็นปัญหา นั่นแหละเราก็ต้องทำงานศิลปะ
The MATTER : แล้วศิลปะแนว conceptual มีเสน่ห์อย่างไร
อาทิตย์ : เราเชื่อว่ามันเป็นอะไรก็ได้ ทุกอย่างเป็นได้หมด สามารถ define จากตัวเราได้ทุกอย่าง นั่นแปลว่า ใครๆ ก็ทำงานศิลปะได้ คุณจะวาดรูปไม่สวยคุณก็ทำงานศิลปะได้ คุณต้องเชื่อในสิ่งที่คุณทำว่ามันสื่อสารอะไร นั่นเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ซึ่งเรามองว่าเมืองไทยเราเน้น Gadget มากเกินไป เอฟกว้าง คม มีโบเก้ แต่ลืมไปว่าจริงๆ แล้วเราถ่ายภาพไปเพื่ออะไร เราทำงานศิลปะไปเพื่ออะไร ซึ่งเรากำลังทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารสิ่งที่อยู่ข้างในเรา และ conceptual กำลังบอกว่า จงมั่นใจในสิ่งที่กำลังจะพูด ซึ่งอาจวาดรูปไม่สวย แต่เรามั่นใจในสิ่งที่เชื่อ
The MATTER : จุดเริ่มต้นของโรงเรียน brick by brick
อาทิตย์ : ตอนแรกเราเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับถ่ายภาพ analog ก่อน ซึ่งเราก็เห็นว่าคนที่ถ่ายรูปค่อนข้างสนใจเรื่องงานศิลปะ ซึ่งเราเองก็สนใจงานศิลปะมากขึ้น พวกศิลปะร่วมสมัยทั้งหลาย มันน่าสนใจตรงที่มีการพิพากษ์สังคม และเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่าย เป็นศิลปะที่เราเอื้อมถึง จริงๆ แล้วพอมองย้อนกลับไปมันคือ ศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงตรงที่ เรามองว่าศิลปะที่ผ่านมาต้องใช้ฝีมือ ความอดทน ทักษะ แต่ศิลปะยุคใหม่มันใช้ไอเดียเป็นตัวตั้ง
พอเราคุยกันเรื่องไอเดีย เราต้องกลับไปมองว่า เมืองนอกก็คือ conceptual art พอหันมามองเมืองไทย คนที่สนใจด้านนี้ก็ต้องไปเรียนเมืองนอก อยากไปเรียน ก็ต้องไปนิวยอร์ก ลอนดอน เรารู้สึกว่า ทำไมเมืองไทยไม่มีที่สอนก็เลยลองทำโรงเรียนดู ซึ่งมันก็เป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่คิดว่ามันคือจุดเริ่มต้น
The MATTER : มีวิธีการเลือกครูที่มาสอนอย่างไร และครูกรุ๊ปแรกมีใครบ้าง
อาทิตย์ : เราเลือกคนที่งานน่าสนใจ เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง และเป็นคนที่มีความเชื่อว่า ใครๆ ก็ทำงานศิลปะได้ เราอยากสร้างแพสชั่นนี้ให้คนอื่น ซึ่งเราเชื่อว่าศิลปินพวกนี้ เขาค้นหาตัวเองเจอแล้ว เช่น นักรบ มูลมานัส ที่เป็นศิลปินแนวคอลลาจ ถามว่าเขาต้องมาสอนคอลลาจมั้ย ก็ไม่ คนที่เรียนในคลาสไม่มีใครทำคอลลาจ แต่ทุกคนทำสิ่งที่เป็นตัวเองเป็นออกมา
ในกรุ๊ปแรกที่สอนจบไปแล้วมี หนิง-อัครา นักทำนา ช่างภาพสตรีท ที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญด้านการทำ photo editing คือการ edit ภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำเซ็ตภาพให้ร้อยเรียงกัน เหมือนกับการตัดต่อหนังแต่ก็ใช้กับทุกงานได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นช่างภาพข่าว สารคดี photo essay หรือจัดนิทรรศการ ทุกอย่างต้องใช้หมด
คนที่สอง ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับหนัง นักเขียนบท ที่เรามองว่าเขาเชี่ยวชาญเรื่องภาพ วิธีคิด สารคดี เขาก็จะใช้วิธีของหนังสารคดีมาเป็นไกด์ไลน์ว่า คุณคิดว่าจะเล่าเรื่องของตัวเองยังไง ลองดูหนังสารคดีเยอะๆ สิ ว่าเขาเล่าเรื่องยังไง ซึ่งนี่ไม่ได้แปลว่าคุณต้องทำงานสารคดีนะ คุณอาจจะ Paint หรือถ่ายรูปก็ได้ แค่ลองมองวิธีเล่าเรื่องพวกนี้มาใส่ในงานของคุณ
คนที่สามคือนักรบ มูลมานัส ที่เป็นแนวคอลลาจ และคนสุดท้ายคือ ทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพสารคดี แฟชั่น ซึ่งการถ่ายภาพสารคดีของเขา มันจะกึ่งๆ สื่อสารว่ามีผลกระทบต่อสังคมยังไง เหมือนพอมีเรื่องเกิดขึ้นในสังคม จะถ่ายทอดบอกกับสังคมได้ยังไงบ้าง มีวิธีการทำยังไงให้งานของคุณสื่อสารเป็นวงกว้าง ซึ่งเขาชัดเจนว่าข้อมูลต้องแน่น
The MATTER : ทำไมต้องมีการเรียนที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ
อาทิตย์ : เราเชื่อว่าเรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา สมมติว่าคนนึงอาจถนัดเรื่องนี้ แต่นักเรียนในคลาสทุกคนต้องการอีกอย่าง ซึ่งเราไม่ได้สอนวิธีการ เราให้ครูสอนหาตัวตนของแต่ละคนในคลาสว่า คนไหนต้องการอะไร มีความชอบอะไรในชีวิต และพยายามดึงออกมา ซึ่งมันก็ใช้เวลา พอคุณเรียนจบแล้วคุณอาจจะยังทำงานศิลปะไม่ได้ แต่คุณรู้วิธีการคิดของการทำงานศิลปะคอนเซปชวล และเชื่อว่ามันเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ถ้าเกิดคุณจับอะไรได้สักอย่างก็จะเข้าใจ และดูงานศิลปะสนุกขึ้น
The MATTER : คุณคิดว่าทิศทางของ conceptual art ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
อาทิตย์ : เราว่าสมัยนี้เด็กรุ่นใหม่เสพงานเยอะมาก มีไอเดียและทำอะไรเกิดขึ้นมากมาย อีกหน่อยคงเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา เราอยากเป็นกลไกนึงในการผลักดันให้คนกล้าคิด ซึ่งโรงเรียนเรา เน้นเรื่อง Conceptual ก็เป็นการเริ่มต้นสำหรับคนที่รู้สึกว่า ถ้าอยากทำงานศิลปะแนวนี้ มันไม่ใช่เรื่องยาก เราจะบอกกับทุกคนว่า โรงเรียนเราทำให้ใครก็ได้สามารถทำงานศิลปะได้ ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม คุณสามารถทำงานศิลปะได้หมด
The MATTER : ในอนาคตอยากเห็นอะไรในวงการศิลปะ
อาทิตย์ : คนไทยจะบ่นตลอดว่าคนไทยไม่ดูงานศิลปะเลย เราก็รู้สึกว่าบ่นไปก็เท่านั้น ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ซึ่งการทำโรงเรียนมันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่คงต้องใช้เวลามาก ไม่รู้เหมือนกันว่านานแค่ไหน
ใครสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ brickbybrickschool
Illustration by Yanin Jomwong