หลังมีประกาศคลายล็อกให้บางธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้ภายใต้มาตรการที่เน้นรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและควบคุมโรค ‘โรงภาพยนตร์’ ก็เป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่ได้กลับมาเปิดอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด จนต้องถูกสั่งปิดตามมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่ราวๆ เดือนเมษายนมาจนถึงกันยายน กินเวลารวมประมาณ 5 เดือน เลยทีเดียว
นอกจากบรรยากาศนั่งดูหนังในโรงภาพยนตร์จะหายไปนานแล้ว ในมุมของผู้ประกอบการ ก็ยังแบกรับภาระจากความซบเซานั้น อีกทั้งมองหาลู่ทางสร้างรายได้เข้ามาในช่วงที่ไม่สามารเปิดให้บริการได้ตามปกติ เพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ แม้ล่าสุดโรงหนังจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. แต่สามเดือนสุดท้ายนับจากนี้ถือเป็นช่วงเวลาน่าจับตามองว่าธุรกิจโรงหนังที่เน้นกลุ่มคนดูกระแสหลักจะพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาทำรายได้อย่างไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งมีแอพฯ สตรีมมิงเข้ามาเป็นทางเลือกในการเสพคอนเทนต์หลากหลายแบบให้กับคนดูอย่างเราๆ ในยุคนี้
The MATTER พามาดูแนวทางปรับตัวในการทำธุรกิจของโรงหนังใหญ่ในไทยว่าหลังจากได้กลับมาเปิดในครั้งนี้ แต่ละค่ายมีกลยุทธ์อะไรเสริมเพิ่มเข้ามาบ้าง เพื่อให้สอดรับกับการกลับมาลุยกิจการโรงภาพยนตร์ยุคดิจิทัลท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบัน ที่สำคัญ การปรับตัวของธุรกิจโรงหนังครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจโรงหนังที่ต่างไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน
ภาพรวมธุรกิจโรงหนังไทยก่อน COVID-19
ก่อนอื่นลองมาดูสภาพการณ์ของธุรกิจโรงหนังไทยก่อนเกิดโควิดว่าเป็นอย่างไรกัน หากอ้างอิงจากรายงานมูลค่าการตลาดและสถิติผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ พบว่ากลุ่มธุรกิจนี้มีรายได้รวมทั้งหมด 26,039.52 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยรายได้หลัก 3 อันดับแรกมาจากการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ (ครอบคลุมพื้นที่ กทม-ปริมณฑล และเชียงใหม่) การจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมในโรงภาพยนตร์ และโฆษณาในโรงภาพยนตร์
นอกจากนี้ เมื่อว่ากันถึงรายได้จากตัวคอนเทนต์ที่นำเข้ามาฉายนั้น ส่วนใหญ่มาจากภาพยนตร์ต่างประเทศ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 3,536.68 ล้านบาท หรือประมาณ 89% และเมื่อเทียบเฉพาะจำนวนรายได้รวมกับกิจการผลิตคอนเทนต์บันเทิงประเภทอื่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังเป็นรองอุตสาหกรรมออนไลน์และโทรทัศน์ตามลำดับ (ออนไลน์มีรายได้เมื่อปี 2560 รวม 80,000 ล้านบาท และโทรทัศน์มีรายได้รวม 65,786 ล้านบาท)
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับภาพรวมของทั้งสามอุตสาหกรรมนี้ก็คือ รายได้รวมเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-พ.ศ. 2560) ของแต่ละอุตสาหกรรมบันเทิงมีความเปลี่ยนแปลงของรายได้ต่างกัน ดังนี้
- อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์มีรายได้เฉลี่ยรวมในเกณฑ์เท่าเดิม ขึ้นลงในแต่ละปีไม่ต่างกันมากนัก
- อุตสาหกรรมโทรทัศน์มีรายได้ปี พ.ศ.2560 ลดลงจากเดิมพอสมควร โดยปี พ.ศ.2560 มีรายได้ 65,786 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อปี พ.ศ.2559 ที่มีรายได้ 116,361 ล้านบาท และปีก่อนหน้าที่มีรายได้เกาะอยู่หลักแสนล้านบาทมาตลอด
- อุตสาหกรรมออนไลน์มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปี พ.ศ.2560 มีรายได้ 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2559 ที่มีรายได้ 56,000 ล้านบาท และปีก่อนหน้าที่มีแนวโน้มรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี
นี่เองที่พอทำให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงแต่ละประเภทที่มีการเติบโตไปตามการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่และพฤติกรรมของผู้บริโภค ถึงอย่างนั้น ก็ถือเป็นการสร้างสีสันและทางเลือกให้คนเสพคอนเทนต์ได้มากขึ้น เพราะแต่ละประเภทก็มีที่ทางทำการตลาดและสร้างรายได้ของตัวเองอยู่แล้วในช่วงเวลาดังกล่าว
Major & SF Cinema สองแบรนด์หลักโรงหนังไทย
หากพูดถึงแบรนด์โรงหนังแล้วนั้น แน่นอนว่าชื่อของ Major และ SF Cinema คงเป็นตัวเลือกที่เรามักนึกถึง โดยทั้งสองแบรนด์นี้กินส่วนแบ่งการตลาดของโรงหนังในเมืองไทยเป็นหลัก
Major หรือ บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการเข้ากับบริษัทอีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 80%
ในขณะที่ SF Cinema หรือ บริษัท เอส เอฟ ซีนีม่า ซิตี้ จำกัด เริ่มกิจการโรงหนังในภาคตะวันออก ก่อนขยายมาเปิดในพื้นที่ กทม. มีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 15% นอกจากนี้ ส่วนแบ่งการตลาดอีก 5% เป็นส่วนต่างของเหล่าผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ
หากว่ากันถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจแล้ว ทั้งสองแบรนด์ต่างเน้นเปิดโรงหนังในตัวศูนย์การค้าเป็นหลัก ไม่ได้เปิดเป็นโรงแบบ stand alone เท่าไหร่นัก ทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ทั้งในแง่การเดินทางและทำเลที่ตั้ง ตลอดจนตัวคอนเทนต์ที่นำมาขายให้แก่กลุ่มลูกค้า ซึ่งมักเป็นภาพยนตร์กระแสหลัก เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับ mass
เมื่อเทียบรายได้ของทั้งสองโรงหนังก่อนเกิดโควิด พบว่าปี 2562
- Major มีรายได้ 11,141 ล้านบาท ทำกำไรได้ 1,170 ล้านบาท
- SF Cinema มีรายได้ 4,671 ล้านบาท ทำกำไรได้ 365 ล้านบาท
ถึงอย่างนั้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดเมื่อปี พ.ศ.2563 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผลประกอบการของโรงหนังทั้งสองเจ้าก็ตกลงมาพอสมควร ยกตัวอย่าง Major ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดของธุรกิจโรงหนังก็มีรายได้ของปีที่แล้วลดลงคิดเป็น 65% เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งยังไม่สามารถเปิดให้บริการโรงหนังได้นานถึง 5 เดือนในปีนี้ จึงทำให้ยิ่งน่าสนใจว่าโรงหนังใหญ่ทั้งสองเจ้าจะปรับตัวอย่างไร และจะใช้กลยุทธ์ไหนในการรับมือและเรียกลูกค้ากลับมาบ้าง
ในวันที่คลายล็อกดาวน์และโรงหนังกลับมาเปิดอีกครั้ง
จริงอยู่ว่าสิ่งที่ทำให้โรงหนังทั้งสองเจ้าต่างจากโรงหนังทั่วไป คือการออกแบบโรงหนังให้มีความหรูหรา ทันสมัย อำนวยความสะดวกสบาย แต่นั่นอาจไม่เพียงพอสำหรับเป็นจุดขายเรียกคนให้มาดูหนังที่โรงได้อีกต่อไป เราจึงได้เห็นการโปรโมตการกลับมาของโรงหนังทั้งสองเจ้าที่นำเอาจุดขายของตนมาประยุกต์ชูเรื่องความปลอดภัยด้านความสะอาด เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า รวมทั้งเสริมแคมเปญการตลาดอื่นๆ ที่กระตุ้นผู้บริโภคให้กลับมาดูหนังที่โรงอีกครั้ง
Major ได้เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยสาธารณสุขรอบด้าน ตั้งแต่การดูแลพนักงานให้ได้วัคซีนครบถ้วน ตรวจคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ การเว้นระยะห่าง การทำความสะอาดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนประยุกต์เทคโนโลยี touchless เพื่อสร้างโรงหนังในเครือทั่ว กทม. ให้เป็นโรงภาพยนตร์ไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
ในขณะเดียวกัน แคมเปญการตลาดที่ Major เริ่มปล่อยออกมาบ้างแล้วนั้น ก็คือแคมเปญ HAPPINESS IS BACK #ความสุขกลับมาแล้ว ซึ่งร่วมกับ ShopeePay เน้นไปที่การนำเสนอโปรโมชันราคาตั๋วหนังและป๊อบคอร์นในราคามิตรภาพเฉพาะวัน รวมทั้งจัดโปรโมชัน Flash Sale ป๊อบคอร์นในวันอื่นๆ แม้จะดูเป็นแคมเปญสร้างกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็น่าสังเกตว่า Major ยังคงดึงเอา ‘ป๊อบคอร์น’ มาสร้างจุดขายเรียกลูกค้านับตั้งแต่ปีที่แล้วที่ต้องปรับตัวจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาด
หากยังจำกันได้ หนึ่งในกลยุทธ์ที่ Major ใช้สร้างรายได้ในช่วงที่ต้องปิดโรงหนังชั่วคราวเมื่อปี 2563 ก็คือ ‘Popcorn To Go’ ที่ร่วมกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ดังอย่าง Grab Food, Foodpanda, LINEMAN และ gojek เพื่อบริการจัดส่งป๊อบคอร์นให้ถึงบ้านลูกค้า รวมทั้งเปิดตัวไลน์สินค้าใหม่อย่าง ‘POPSTAR’ หรือแม้กระทั่งคิดพัฒนาแพคเกจจิ้งผลิตภัณฑ์ป๊อบคอร์นให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้มีรายได้จากส่วนนี้เข้ามาคิดเป็น 10%
และหากย้อนกลับไปเมื่อปีก่อนหน้านั้น ยอดขายจากการจำหน่ายสแน็กของ Major อย่างป็อบคอร์น รวมไปถึงขนมขบเคี้ยว น้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งของเล่นอื่นๆ คิดเป็น 30% (อ้างอิงจากปี 2561) อีกทั้งยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี ที่สำคัญ เมื่อเทียบยอดขายของป๊อบคอร์นกับการซื้อตั๋วหนังแล้ว ก็ต้องบอกว่ายอดขายป๊อบคอร์นให้กำไรคิดเป็น 68% ในขณะที่กำไรจากตั๋วหนังคิดเป็น 12%
นอกจากนี้ นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ถึงเรื่องการกลับมาเปิดโรงหนังและผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยกล่าวว่า รายได้จะกลับมาเป็นบวกได้ ทั้งจากตัวคอนเทนต์ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์ที่รอนำเข้ามาฉายกว่า 20 เรื่อง รวมทั้งยังมีรายได้จากการจำหน่ายป๊อบคอร์น โดยหลังจบไตรมาสสามที่ผ่านมา Major มีรายได้ส่วนนี้คิดเป็น 50 ล้านบาท/เดือน จึงไม่แปลกเลยที่เราอาจจะได้เห็นแคมเปญโปรโมชันป๊อบคอร์นหรือการส่งไลน์ป๊อบคอร์นใหม่ๆ จาก Major มาตลอดไม่ว่าจะเป็นช่วงที่่โรงหนังเปิดไม่ได้หรือเริ่มกลับมาเปิดแล้วในตอนนี้ก็ตาม
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ เราอาจได้เห็นบทบาทของ Major ในการไปลุยกิจการในฐานะ Content Provider มากขึ้น โดย Major วางแผนสร้างหนังไทยเข้าฉายตกปีละ 20 เรื่อง จากเดิมที่ทำไว้ประมาณปีละ 10 เรื่อง ส่วนหนึ่งก็เพราะขยายฐานลูกค้าและหาช่องทางเพิ่มรายได้จากกลุ่มคนต่างจังหวัดที่นิยมดูหนังไทยเป็นหลัก รวมทั้งขายลิขสิทธิ์ให้กับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มและค่ายหนังพันธมิตรประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และจีน นี่เองที่ทำให้พอเห็นแนวทางของโรงหนังใหญ่ที่เริ่มขยับขยายช่องทางหารายได้จากธุรกิจอื่นมาเสริมธุรกิจโรงหนัง โดยหาวิธีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของแพลตฟอร์มหรือตัวคอนเทนต์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
สำหรับฝั่ง SF Cinema เดิมทีให้ความสำคัญกับ ‘ประสบการณ์’ ของผู้รับชมเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการเปิดบริการโรงหนังรูปแบบต่างๆ อย่าง Emprive Cineclub, CAT First Class Cinema, Mastercard CInema, Zigma CineStadium, Happiness Cinema และ MX4D หรือแม้แต่การเปิดตัวโรงหนังที่สามารถนอนดูบนเตียงได้ ให้บรรยากาศเหมือนนอนดูหนังอยู่ที่บ้านภายใต้ชื่อว่า The Bed Cinema by Omazz ที่เปิดให้บริการสาขาเซ็นทรัลเวิร์ลด์
ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในการกลับมาเปิดโรงหนังครั้งนี้ของ SF Cinema ยังพ่วงไปถึงเรื่องความปลอดภัยที่ต้องมาควบคู่กับการมอบความสุขและความสะดวกสบายในการรับชมภาพยนตร์ให้แก่ลูกค้า หรือที่เรียกว่า Keep Caring, Keep Entertaining โดยพิมพ์สิริ ทองร่มโพธิ์ Marketing Director ของ SF Cinema ได้ให้สัมภาษณ์กับ mango zero เกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของโรงหนังภายใต้แนวคิดดังกล่าว ตั้งแต่มาตรการดูแลความปลอดภัยและความสะอาดอย่างการติดตั้งเครื่องฉายแสง UVC ระบบตรวจคัดกรอง การผ่านมาตรฐาน THAI STOP COVID PLUS และอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอและสื่อสารใจความสำคัญของ KEEP CARING, KEEP ENTERTSINING ออกมาในรูปของคลิปวิดีโอเพลง Hero โดยเนื้อเรื่องภายในคลิปดังกล่าวพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่ทาง SF Cinema ได้เตรียมพร้อมมอบให้กับลูกค้าที่จะกลับมาดูหนังในโรง
โปรแกรมหนังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ SF Cinema ชูเป็นจุดขายในการกลับมาเปิดให้บริการครั้งนี้ โดยหลายคนอาจได้มีโอกาสเห็นรายชื่อหนังที่เตรียมเข้าฉายในไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Black Widow, Fast & Furious 9, No Time To Die, Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings, The Suicide Squad และอีกมากมาย
สิ่งที่น่าสนใจจากโปรแกรมหนังที่จะนำมาฉายนั้น ก็คือนี่อาจเป็นตัวเรียกเม็ดเงินเข้าธุรกิจโรงหนังได้มากพอสมควร เพราะหากอ้างอิงจากรายงานมูลค่าการตลาดและสถิติผู้ประกอบการฯ ข้างต้น จะเห็นว่าภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้มหาศาลเป็นแนวๆ เดียวกับโปรแกรมหนังที่จะเข้าฉายทั้งใน SF Cinema และ Major หรือเป็นหนังที่มาจากทั้งฝั่งมาร์เวลและดีซีทั้งนั้น โดยทำรายได้อยู่ในช่วง 100-300 ล้านบาท (Fast & Furious 8 ทำรายได้ไปมากที่สุด คิดเป็น 310 ล้านบาท ในปีก่อน)
ทั้งนี้ หนังกระแสแรงอย่าง Black Widow ก็น่าจับตามองไม่น้อย หากอ้างอิงจาก boxofficemojo ภาพยนตร์ Black Widow ก็กวาดรายได้ไปประมาณ 370 กว่าล้านดอลลาร์ฯ จากการเข้าฉายทั่วโลก ในขณะที่รายได้เปิดตัวที่ไทยอยู่ประมาณ 1.5 แสนดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5.3 ล้านบาท รวมทั้งยังครองอันดับ 1 อยู่ในตอนนี้ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าก่อนปิดไตรมาสสุดท้ายของปี โรงหนังใหญ่ของไทยทั้งสองเจ้าจะทำรายได้ปิดอยู่ที่เท่าไหร่
เส้นทางของโรงหนังเฮาส์ & โรงหนังทางเลือก
ถึงอย่างนั้น หากกล่าวถึง ‘โรงหนังในไทย’ และมองภาพทั้งหมดแบบรวบยอดแล้ว คงไม่กล่าวถึงโรงหนังเฮ้าส์หรือโรงหนังทางเลือกไม่ได้ เพราะตลอดสิบปีที่ผ่านมาได้เกิดโรงหนังเฮาส์และโรงหนังทางเลือกมากมายแม้จะมีหล่นหายตามรายทางไปบ้างด้วยเงื่อนไขจำเป็นก็ตาม อีกทั้งตัวคอนเทนต์และกลุ่มเป้าหมายของโรงหนังประเภทนี้เป็นคนละส่วนกับโรงหนังใหญ่ที่เน้นตลาดแมส นั่นหมายความว่า คนดูอย่างเรามีพื้นที่โรงหนังให้เลือกเข้าใช้บริการได้หลากหลาย
คำถามต่อมาก็คือ โรงหนังลักษณะนี้มีแนวทางทางปรับตัวในการทำธุรกิจโรงหนังต่อไปอย่างไรในตอนนี้
หากว่ากันถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจหรือแคมเปญการตลาดจัดเต็มอย่าง Major หรือ SF Cinema นั้น ก็ต้องบอกว่าโรงหนังเล็กๆ ยังไม่ได้มีสิ่งเหล่านั้นให้เห็นชัดเจนเท่ากับโรงหนังใหญ่ทั้งสองเจ้า ในขณะเดียวกัน อย่างน้อยที่สุด โรงหนังเหล่านี้ยังคงมีคนแวะเวียนเข้าใช้บริการไม่ขาดแน่นอน นั่นก็เพราะกลุ่มคนดูของโรงหนังประเภทนี้ไม่ได้มาเพื่อเสพคอนเทนต์ แต่เขามาเพื่อเสพ ‘บรรยากาศ’ และ ‘วัฒนธรรม’ ของความเป็นโรงหนังเฮ้าส์ที่หาจากโรงหนังใหญ่ไม่ได้
ครั้งหนึ่ง พงศ์นรินทร์ อุลิศ นักธุรกิจ ดีเจรายการวิทยุ และหนึ่งในหุ้นส่วนหลักของ House SAMYAN เคยให้สัมภาษณ์กับ Brand Buffet เกี่ยวกับการทำธุรกิจโรงหนังอินดี้ที่ย้ายบ้านจาก RCA มาใจกลางกรุงตรงสามย่านมิตรทาวน์ไว้อย่างน่าสนใจว่า โรงหนังเฮาส์มีการฉายหนังนอกกระแสภายใต้บรรยากาศอบอุ่น เป็นมิตร เป็นกันเอง อันถือเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของโรงหนังเฮาส์ ยิ่งถ้าอยู่ทำเลเข้าถึงง่าย เดินทางสะดวก ก็อาจทำให้คนเดินทางเข้ามาดูหนังที่โรงหนังเฮาส์มากขึ้นเช่นกัน
ที่สำคัญ โรงหนังเฮาส์ก็มีที่ทางและกลุ่มคนดูที่เดินเข้ามาหาเสมอ เพราะหนังนอกกระแสเป็นตลาดหนังที่มีคนดูและเลือกคนดูเป็นของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากจำนวนโรงหนังทางเลือกที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ สัดส่วนการนำหนังอินดี้เข้ามาฉายในโรงหนังเฮาส์ที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่โรงหนังเน้นตลาดแมสก็นำหนังนอกกระแสมาเข้าฉายบ้าง
เช่นเดียวกับโรงหนังทางเลือก Doc Club & Pub คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่อธิบายความเป็นไปของตลาดและกลุ่มคนดูของเหล่าผู้ประกอบการโรงหนังทางเลือกหรือเน้นขายคอนเทนต์นอกกกระแสได้เป็นอย่างดี ภาพรวมของร้านผสมผสานความเป็นโรงหนัง คาเฟ่ และ public space เรียกง่ายๆ คือเป็นโรงหนังที่มีความเป็นคอมมูนิตี้ ต่างจากโรงหนังใหญ่และโรงหนังเฮาส์ไปอีกแบบ รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการพักผ่อนของคนแทบจะครอบคลุมทุกจุดประสงค์ ตั้งแต่มาดูหนัง สังสรรค์กับเพื่อน นั่งทำงาน อ่านหนังสือ หรือแลกเปลี่ยนพูดคุยหาแรงบันดาลใจ
นอกจากนี้ เมื่อว่ากันถึงการทำธุรกิจโรงหนังทางเลือกแข่งกับแพลตฟอร์มสตรีมมิง ก็อาจเรียกว่านี่ไม่ใช่ disruption ของผู้ประกอบการเสียทีเดียว เพราะคนจะเลือกมาดูหรือไม่มาดูหนังในโรงหนังนั้น ก็มีปัจจัยสำคัญอย่างตัวคอนเทนต์ที่นำมาฉายและบรรยากาศ
สุภาพ หริมเทพาธิป หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Doc Club & Pub เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับ The MATTER ไว้อย่างน่าสนใจว่า “…คอนเทนต์คือตัวที่จะพาเราไปเจออะไร แต่ไม่ใช่เราเป็นคนที่บอกว่าฉันอยากจะเสพหรือไม่เสพคอนเทนต์นั้น มันมีทางเลือกว่าเราจะกดดู กดหยุด หรือไม่ดูต่อตามความสะดวกของเรา กับให้คอนเทนต์พาเราไป ไม่ว่าจะเบื่อแค่ไหน แต่สุดท้ายปลายทางแล้วก็จะพบอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนมุมมองความคิดบางเรื่องที่ค้างคาในหัวเราก็ได้ มองว่านี่เป็นเรื่องที่แตกต่าง…”
ทั้งหมดนี้อาจพอทำให้คนดูอย่างเราได้เห็นภาพรวมของธุรกิจโรงหนังในไทยตอนนี้ได้บ้าง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การแข่งขันกันเฉพาะภายในแวดวงคนทำงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว เพราะแค่พูดถึงคำว่า ‘ธุรกิจโรงหนัง’ ก็ยังแบ่งประเภทได้อีกหลายอย่างตามสเกลโรง คอนเทนต์ที่นำมาขาย และกลุ่มเป้าหมาย
แต่ยุคนี้และช่วงเวลาเช่นนี้คนทำธุรกิจโรงหนังก็ต้องปรับตัว เพื่อยกระดับตัวเองและแข่งขันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ทั้งปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อกิจการตนเอง รวมทั้งการเกิดขึ้นและพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทุกวันเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก: