“ทางเราจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที ขอเรียนให้ทราบว่า ทางฟู้ดแพนด้ามีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่ค่ะ”
ข้อความข้างต้นคัดจากส่วนหนึ่งที่แอดมินเพจฟู๊ดแพนด้าโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ หลังจากที่ชายคนหนึ่งในเสื้อคลุมฟู๊ดแพนด้าเผาพระบรมฉายาลักษณ์ แต่คำถามคือ ‘มันใช่หรอ ?’
แม้หลังจากนั้น ทางเพจฟู๊ดแพนด้าจะออกมาขอโทษกับการตัดสินใจออกแถลงการณ์ดังกล่าว แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยคือ ในฐานะแรงงาน ‘แพลตฟอร์ม/ พาร์ทเนอร์อิสระ’ ที่สังคมไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ และทางด้านบริษัทก็ยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้อยู่ในสถานะนายจ้างและลูกจ้าง ทำไมฝ่ายหนึ่งถึงวางท่าเหนืออีกฝัง ขมขู่จะไล่อีกฝ่ายหนึ่งออกจากหน้าที่การงาน
นี่ไม่ใช่ประเด็นแรก ที่ความย้อนแย้งและการใช้อำนาจควบคุมสั่งการที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มไรเดอร์และบริษัทต่างๆ มันมีมากกว่านั้น และกลุ่มไรเดอร์ก็พยายามเรียกร้องตลอดมา
The MATTER พูดคุยกับแอดมินเพจสหภาพไรเดอร์ – Freedom Rider Union และ เนี๊ยบ – ชนฐิตา ไกรศรีกุล นักวิจัยจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) เพื่อสะท้อนถึงอำนาจที่บริษัทพยายามใช้คลุมหัวเหล่าไรเดอร์ จนน่าชวนขบคิดว่าพาร์ตเนอร์อันที่จริงแล้วแปลว่า ‘คู่หู’ หรือ ‘ลูกน้อง’ กันแน่?
แถลงการณ์ปลดพนักงาน ?
ก่อนหน้านี้ ชนฐิตา จากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ได้เขียนอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าไรเดอร์และบริษัทไว้ในบทความ ‘เป็นแรงงานหรือไม่เป็นแรงงาน? : ปัญหาการจ้างงานระหว่างบริษัทกับไรเดอร์ที่ยังไร้คำตอบ’ แล้ว โดยสรุปได้ว่า จนถึงขณะนี้ เหล่าไรเดอร์และบริษัทยังคงอยู่ในความสัมพันธ์ที่คลุมเครือไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่สามารถระบุสถานะการจ้างงานได้
กล่าวคือ ไรเดอร์ไม่อยู่ในสถานะ ‘ลูกจ้าง’ และบริษัทแพลตฟอร์มทั้งหลายก็ไม่ใช่ ‘นายจ้าง’ ตามกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ดังนั้น บริษัทแพลตฟอร์มอย่างฟู๊ดแพนด้ามีสิทธิในการปลดพนักงานดังกล่าวออกหรือ และอย่างยิ่ง มีสิทธิในการจำกัดสิทธิแสดงออกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญหรือ ?
ชนฐิตา ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความข้างต้น และอีกขาหนึ่งเป็นนักวิจัยจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ให้ความเห็นถึงท่าทีจากฟู๊ดแพนด้าว่า “มันน่าสนใจมาก กับปรากฎการณ์พยายามปลดคนงาน เพราะที่ผ่านมาหลายบริษัทพยายามบอกมาตลอดว่าคนเหล่านี้เป็น independent contractor หรือพนักงานอิสระ ซึ่งถ้าเป็นคนงานนอกระบบจริง คุณไม่มีสิทธิในฐานะนายจ้างที่จะบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่เขาใช้คำว่าสิ้นสุดสภาพการเป็นพนักงาน ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาใช้คำผิดหรือเปล่า”
ชนฐิตาอธิบายต่อว่า มันเป็นตัวอย่างหนึ่งของสารพันปัญหาความย้อนแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและไรเดอร์ เพราะที่ผ่านมาบริษัทพยายามพูดตลอดว่า “ฉัน (บริษัท) ไม่เกี่ยวข้องกับเธอ (ไรเดอร์)” ในฐานะลูกจ้างและนายจ้าง แต่สุดท้ายกลับมีการใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อไม่ให้รับงาน เพื่อควบคุมพนักงานบนแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในฐานะนายจ้างเพื่อควบคุมสั่งการลูกน้อง
ด้านชิน (นามสมมุติ) หนึ่งในแอดมินเพจสหภาพไรเดอร์ให้ความเห็นถึงแถลงการณ์ลำดับแรกจากฟู๊ดแพนด้าว่า “เราไม่ควรไปตัดสินใครว่าเป็นผู้ก่อการร้าย มันเป็นการกล่าวโทษโดยไม่มีความชอบธรรมเลย ผมมองว่าคนที่สนับสนุนเผด็จการต่างห่างที่เป็นผู้ก่อการร้ายตัวจริง”
“เมื่อไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ไม่ใช่แรงงานในระบบ คุณไม่มีสิทธิ์ปลดไรเดอร์ เพราะการแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ”
เขากล่าวต่อว่า “เมื่อไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ไม่ใช่แรงงานในระบบ คุณไม่มีสิทธิ์ปลดไรเดอร์ เพราะการแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ”
“น่าเศร้าครับ ที่บริษัทที่มีภาพลักษณ์ที่ดี กลับละเมิดหลักรัฐธรรมนูญเสียเอง” เขาทิ้งท้าย
อำนาจแสนงงงวยที่ครอบหัวไรเดอร์
“แล้วบอกว่าเราเป็นพนักงานอิสระ ถ้าอิสระจริงก็ต้องยกเลิกได้ แต่นี่คุณเอากฎระเบียบมาครอบไรเดอร์ฝ่ายเดียวเลย”
ชินและแอ๊ด (นามสมมุติ) สองแอดมินเพจสหภาพไรเดอร์เล่าให้ฟังว่า ถึงแม้ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและไรเดอร์ไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้าง แต่มันก็มีอำนาจและกฎระเบียบบางอย่างที่บริษัทออกมาแล้วกระทบต่อไรเดอร์โดยตรง และเมื่อได้ฟังก็ยิ่งรู้สึกว่ามันซับซ้อนและสอดไส้จนบางครั้งยากที่จะรู้ตัว
“กฎระเบียบมันมีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว อย่างการยกเลิกงานแต่ก่อนไม่เสียเงิน แต่ตอนนี้มันมีการปรับให้แรงขึ้นเรื่อย จากไม่เสียเงินเป็นเสีย 50 บาท เป็นโดนแบนไม่ให้รับงาน 3 ชั่วโมง เป็น 6 ชั่วโมง แล้วล่าสุดคือ 24 ชั่วโมงเลย” แอ๊ดอธิบายต่อว่าด้วยสภาพของเมืองไทย การจัดส่งสินค้าบางประเภทอาจทำให้เกิดปัญหามากกว่าตามมา จึงจำเป็นต้องตัดสินใจยกเลิกงาน “บางทีเรากดได้สินค้าที่ส่งยาก เช่น เค๊ก แล้วเราไม่สะดวกส่ง เพราะขับไปเจอหลุมบ่อบนถนนเมืองไทยแบบนี้ เราก็ไม่สะดวกส่ง กดยกเลิกก็โดนแบน”
แอ๊ดเล่าต่อว่าด้วยสภาพที่ไม่มีกฎหมายรองรับ บางครั้งบริษัทออกกฎระเบียบบางอย่างซึ่งกระทบต่อพนักงานแพลตฟอร์มเป็นวงกว้าง “มันมีบริษัทหนึ่งที่เรียกเก็บเงินคนขับทุกคน 200 บาท อ้างว่าเอามาชดเชยกรณีคนขับทำสินค้าลูกค้าเสียหาย แต่กลายเป็นว่าพอมันถึงเคสจริงๆ คนขับก็ต้องจ่ายค่าเสียหายเอง เงินจำนวนนี้ไม่ได้มาช่วยคนขับจริงๆ” แอ๊ดตั้งข้อสังเกต “การประกาศเรียกเงิน 200 มันเป็นการระดมทุนหรือเปล่า? ถ้าคนขับมีสัก 100,000 คน มันเป็นเงินเท่าไรแล้ว?”
นอกจากนี้ เหล่าไรเดอร์ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนเงินและถอนเงินจากแอพพลิเคชั่นของบางบริษัท โดยเติมเงินมีค่าธรรมเนียม 4 บาท ขณะที่ถอนเงินต้องเสีย 8 บาท
“ในระบบใหม่ล่าสุดของแอพสีเขียว ไรเดอร์ใหม่สมัครไม่เสียเงิน แต่เสื้อกับกล่องไม่มีให้” เขากล่าวต่อถึงมาตรการที่บริษัทออกเพื่อกดดันให้ไรเดอร์ต้องซื้ออุปกรณ์ว่า “ถ้าไม่มีอุปกรณ์ก็เห็นงานน้อยลง โดยเฉพาะงานห้างต้องเปิดระบบกล่องถึงจะเห็นงาน มันเหมือนบังคับแบบเนียนๆ ให้ซื้อกล่องถึงจะเปิดให้เห็นงาน ซึ่งกล่องรวมเสื้อก็ราคาตกราว 1,000 บาท”
“อย่างค่ายอื่นก่อนหน้านี้ เขาก็ออกกฎว่าคุณต้องมีกล่องถึงจะเห็นงานมากขึ้น หรืออย่างบางบริษัทถ้ามีคนแจ้งว่าคุณไม่มีกล่อง คุณก็อาจโดนลงโทษได้ เช่น ตัดเงิน 200 บาท”
ล้ม-เจ็บ-ตาย บริษัทไม่ต้องจ่าย
ประเด็นหนึ่งที่เลวร้าย และกระทบความมั่นคงในสวัสดิภาพการทำงานของไรเดอร์มากๆ คือ การที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับสถานะของไรเดอร์เหล่านี้ ทำให้บางครั้งที่พวกเขาประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต หลักประกันเดียวที่พวกเขาจะได้รับจากบริษัทคือ ‘น้ำใจ’
“ทุกวันนี้เดือนนึงต้องวิ่งได้ถึงอย่างน้อย 200 งานถึงจะได้ประกันอุบัติเหตุจากบริษัท ถ้าเดือนหน้าวิ่งไม่ถึงก็ตัด” แอ๊ดพูดถึงข้อกำหนดจากหลายๆ บริษัทแพลตฟอร์ม
ชินเสริมต่อว่า “ถ้าไรเดอร์รถล้มก็ถูกผลักไปใช้ พ.ร.บ. หมดเลย ถ้าบริษัทจะช่วยเหลือก็มาในรูปแบบของน้ำใจ ทำให้สุดท้ายไรเดอร์ก็ต้องรวมกลุ่ม เรี่ยไรเงินเพื่อช่วยเหลือเพื่อร่วมอาชีพกันเอง เหมือนว่าบริษัทพยายามสร้างวัฒนธรรมเรี่ยไรเงิน เพื่อให้ตัวเองปัดความรับผิดชอบออกไป”
“ผมไม่มองว่านี่เป็นวัฒนธรรมดีงามนะ มันเป็นการปัดความรับผิดชอบของบริษัทเลยด้วยซ้ำไป มันเป็นการผลักภาระให้ไรเดอร์ทั้งหมดเลย”
ทางด้าน ชนฐิตามองว่าประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่เช่นกัน “การไม่มีสถานะทางกฎหมาย มันเป็นปัญหาของทุกอย่าง บางคนอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่เวลาคุณขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุตายบนท้องถนน ถ้าเป็นลูกจ้าง ปกตินายจ้างจะเข้ามาดูแล 100% ถ้าคุณเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตจากการทำงาน”
“แต่ในฐานะพาร์ทเนอร์อิสระ คุณอาจจะได้ประกันตามมีตามเกิด หรืออาจไม่ได้ถ้าทำงานไม่หนักพอให้กับบริษัท หรือไม่ได้เพราะบริษัทอ้างว่าคุณไม่ได้เปิดระบบทำงานอยู่ตอนประสบอุบัติเหตุ” ชนฐิตาอธิบายถึงสถานการณ์ของการไร้สถานะในปัจจุบันของพนักงานแพลตฟอร์ม เธอเปรียบเทียบว่าการได้รับการรับรองสถานะจากกฎหมาย เสมือนคนที่มีบัตรประชาชนของรัฐ แต่กลุ่มไรเดอร์ในเวลานี้ไม่ต่างจากคนไร้สัญชาติที่อยู่ได้ แต่อยู่แบบ “งงๆ”
ที่สุดของความหวังคือกฎหมายใหม่
ชนฐิตาเสนอว่า ในปัจจุบันที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มเหล่านี้โดยเฉพาะ ควรจะให้มีการผ่อนผันเพื่อใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เสียก่อน แต่เป้าหมายสูงสุดที่เธอมองยังคงเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่มีการคิดครอบคลุมถึงความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านของโลกปัจจุบัน
“ในระยะยาว เรามองว่าการจ้างงานแบบนี้อย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ เราอยากให้กฎหมายคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือระบบอัลกอริทึม กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ควรคำนึงถึง ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ไม่ใช่ติดอยู่กับระบบแรงงานโรงงานอุตสาหกรรม”
“แต่ระหว่างนี้ ช่วงระหว่างการร่างกฎหมาย มันควรมีการอนุโลมเอา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กลับมาใช้ก่อน อย่างน้อยในส่วนของความรับผิดชอบบริษัทมันใช้หลักง่ายๆ ว่า เมื่อไหร่ที่บริษัทมีอำนาจควบคุมสั่งการคนงาน ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบทันที”
ชนฐิตาและ JELI ตระหนักดีว่า การร่างกฎหมายจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้น เธอจึงเสนออีกหนึ่งโมเดลที่มีการใช้ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ โดยมันเป็นแบบฟอร์มที่ชื่อ Assembly Bill 5 (AB5) โดยมีเกณฑ์ทดสอบสถานะคนทำงานเอาไว้ 3 ข้อ (ABC Test) เพื่อคัดกรองสถานะการจ้างงานว่าเป็นลูกจ้างแพลตฟอร์มหรือลูกจ้างทั่วไป โดยยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่
- คนงานเป็นอิสระจากการควบคุมและกำกับของผู้ว่าจ้าง ทั้งในลายลักษณ์อักษรและในทางปฏิบัติ
- คนงานไม่ได้อยู่ในธุรกิจเดียวกับผู้ว่าจ้าง เช่น ช่างประปาที่มาซ่อมท่อน้ำให้กับบริษัทขนส่ง
- คนงานทำงานนั้นอย่างอิสระอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้ทำเพราะผู้ว่าจ้างเป็นผู้อำนวยให้มาทำ เช่น ตนเองขับรถส่งอาหารอยู่ก่อนตั้งนานแล้ว ไม่ได้เพิ่งย้ายมาทำหลังจากเข้าสมัครงานกับผู้ว่าจ้าง
เธอทิ้งท้ายว่าเกณฑ์นี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในบางประการได้ และอาจทำให้ชัดเจนขึ้นว่าสถานะระหว่างไรเดอร์และบริษัทเป็นอย่างไร เพราะหลังจากตรวจสอบตามเกณฑ์ดังกล่าวเธอได้ข้อสรุปว่า ไม่มีไรเดอร์ของบริษัทไหนที่เข้าค่ายลูกจ้างแพลตฟอร์มเลย ไรเดอร์ทั้งหมดของไทยคล้ายลูกจ้างทั่วไปเสียมากกว่า
แค่บางทีพวกเขายังไม่รู้..
อ้างอิง: