“ถ้าเราปล่อยให้ไว้ผมยาว เด็กก็จะไว้ผมยาวตั้งศอก แล้วก็จะเดือดร้อนทั้งเพื่อน คือบดบังทัศนวิสัย ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เดือดร้อนต้องหาแชมพูมาทำความสะอาด สิ้นเปลือง และเสียเวลากันเป็นหนักหนา”
จริงๆ ไม่ต้องพูดเยอะก็ได้กับการใช้ ‘ตรรกะ’ ที่สุดจะน่าอัศจรรย์ใจข้างต้น เอาเป็นว่าถ้าเราพอจะเข้าใจเรื่องตรรกะ และการใช้ตรรกะในฐานะหัวใจหนึ่งของการใช้ความคิด การให้เหตุผลเพื่อโต้แย้งใดใด เราก็น่าจะพอลงความเห็นได้ว่า การใช้ตรรกะข้างต้นนี่แทบจะไม่มีตรรกะใดใดเลย
แต่สิ่งที่น่าคิดคือ คนที่พูดด้านหนึ่งก็เป็นระดับผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาของประเทศไทย เป็นคนที่กำหนดนโยบาย ขุดพรวนทั้ง education และ educator ต่อไปในอนาคต การให้เหตุผลนี้อาจจะฟังดูสุดโต่งและตีตกอย่างง่ายดายไปหน่อย แต่ไอ้ตรรกะแบบที่ว่า การจะเกิดอะไรบางอย่างขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงหรือการตั้งคำถามใดใด เราก็มักพบให้เหตุผลทำนองว่า ถ้าทำสิ่งนี้แล้ว ความเป็นไป ระเบียบโลกอันสงบร่มเย็น ความดีความงดงามที่สถิตถาวรนั้นอาจถล่มหายลงไปได้อย่างง่ายดาย
การให้เหตุแบบตั้งตุ๊กตาว่า ถ้าเราปล่อยให้สิ่งหนึ่งเกิด แล้วเกรงว่าจะเกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ตามมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมองว่าสิ่งที่ตามมามักจะเป็นหายนะที่ใหญ่หลวง การให้เหตุผลทำนองนี้ในทางหลักตรรกะเรียกว่า ‘slippery slope’ คือนึกภาพเนินที่ลาดเอียงที่เหมือนกับว่า พอเกิดเรื่องใดใดแล้วก็จะเกิดความเลื่อนเบื้อน ลื่นไถลตกตายไปตามกัน
นอกจากการให้เหตุผลแบบทางลาดลื่นนี้จะเป็นการให้เหตุผลแบบไม่เป็นเหตุเป็นผลกันแล้ว กรอบความคิดที่อยู่เบื้องหลังความกังวล การห้ามนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากความคิดที่มองมนุษย์ มองคนในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ค่อนไปทางเลวทราม เชื่อเรื่องการกำกับควบคุมด้วยเชื่อว่าคนจะเหลกเหลวและทำให้โลกนี้วิบัติไปคามือ- ซึ่งก็น่าคิดว่าคนพูดต้องคิดว่าตัวเองมีศีลธรรม มีความสามารถในการควบคุมทั้งคุมตนเองและคุมผู้อื่นสูงกว่าชาวบ้านอย่างน่าประหลาดใจ
ทางร่วงหล่นที่เป็นเรื่องของจินตนาการ
คำอธิบายที่ง่ายที่สุดของตรรกะชำรุดแบบ Slipper Slope คือคำว่า ‘มโน’ และเป็นการมโนแบบไฟไหม้ฟาง หลักคิดของ Slippery Slope คือการมองว่าจุดเล็กๆ จุดหนึ่งจะนำไปสู่เหตุร้ายที่เกี่ยวเนื่องกัน กระทบต่อๆ กันไปเป็นทอดๆ จนนำไปสู่เรื่องราวเลวร้ายบานปลายจากจุดเล็กๆ นั้น
กรณีการให้เหตุผลเรื่องระเบียบทรงผมถือเป็นตัวอย่างที่ดีของตรรกะวิบัติแบบทางลาดชัน ขนบสำคัญของตรรกะทำนองมักเริ่มจากนี่แหละครับ การตั้งคำถามกับอะไรบางอย่าง หรือการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ก็จะเกิดความตระหนกตกใจว่าถ้าสิ่งที่ดำเนินมา ระเบียบสังคมที่เรียบร้อย(ในสายตาของคนนั้นๆ) ถูกเปลี่ยนแปลงหรือถูกขัดไป เรื่องร้ายๆ ก็จะเกิดขึ้น ไม่มีกฏเรื่องความยาวทรงผม ทุกคนก็จะไว้ผมยาวถึงกลางหลัง บางคนอาจจะยาวระพื้นนำไปสู่ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ถ้าทุกคนผมยาวตั้งสูงก็อาจนำไปสู่การบดบังสายตา เด็กๆ เข้าไม่ถึงการศึกษา(แบบ literally) นำไปสู่ปัญหาสังคม ติดยา ค้าประเวณีและสังคมไทยสงบร่มเย็นก็จะล่มสลายหายนะเพราะการงดเว้นระเบียบเส้นผม ข้อแย้งทำนองนี้มักเกิดกับการประเด็นเรื่องกฏเกณฑ์ต่างๆ เหมือนกับที่ยกเลิกชุดนักเรียนแล้วเด็กๆ จะแต่งแฟนซีขึ้นมา
องค์ประกอบของทางลื่นไถลของความคิด
ความน่างงหรือกับดักของตรรกะชำรุดแบบนี้คือการที่มันดูเป็นตรรกะนี่คือ คือใช้กรอบอธิบายแบบ a ทำให้เกิด b และ c ต่อเนื่องกันไป แต่แน่นอนว่าตรรกะแบบนึ้ใช้ความรู้สึกคือความกลัวเข้ามาเจือด้วย และการให้เหตุผลที่ต่อเนื่องนั้นก็ไม่สมเหตุสมผลซะทีเดียว ตรงนี้คือการใช้อุปมาของทางลาดและการลื่นไถลมาเพื่อสกัดจุดต้นกำเนิด คือไม่ต้องร่วงดีกว่าที่จะไปยืนที่จุด a แต่แรก
นักคิดและนักวิชาการก็พยายามนิยามว่าอะไรคือตรรกะชำรุดแบบนี้ แบบไหนเข้าข่ายบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่อันตราย (danger) ของการให้ตรรกะทำนองนี้ยกมาเป็นผลสืบเนื่องเป็นหลัก งานศึกษา ‘The psychological mechanism of the slippery slope argument’ ตีพิมพ์ใน Journal of Memory and Language เมื่อปี ค.ศ.2011 อธิบายองค์ประกอบ 4 ประการของ Slippery Slope ไว้ว่าตรรกะพังทำนองนี้จะประกอบด้วย
- เกิดข้อเสนอบางอย่างขึ้น (A)
- เกิดผลที่ไม่น่าพึงพอใจ(C)
- มีความเชื่อบางอย่างที่ทำให้เชื่อว่า (A) จะเกิด (C) ขึ้น
- ปฏิเสธข้อเสนอ (A) โดยมีความเชื่อนั้นเป็นฐาน
ซึ่งข้อเสนอเรื่องทรงผมก็เข้าทำนองนี้ คือ1. เกิดข้อเสนอให้ยกเลิกทรงผม 2. มีความคิดว่าผลของการยกเลิกกฏนำไปสู่ปัญหาของการให้การศึกษา 3. เชื่อว่าการยกเลิกการควบคุมทรงผมแล้วเด็กๆ จะไว้ผมอย่างมีอิสระจนส่งผลกระทบต่อการเรียน และ ทาดา 4. เราอย่าไปเลิกกฏคร่ำครึพวกนี้เลยดีกว่า ปลอดภัยไว้ก่อน
ข้อสังเกตสำคัญของการใช้ตรรกะแบบนี้ คือผู้พูดมักเป็นผู้มีอำนาจ หรืออาจจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่ผ่านกฏระเบียบทำนองนั้นมาก่อน มีความเชื่อทำนองว่ายิ่งอยู่นานแปลว่ามีคุณค่า หรืออาจะความกลัวบางอย่างอยู่ในใจมากกว่าการใช้เหตุผลหรือข้อมูลหลักฐานอื่นๆ มารองรับ
หนึ่งในกลิ่นอายที่อยู่ในตรรกะชำรุดแบบ Slippery Slope ส่วนหนึ่งมีนัยของการมองโลกในแง่ร้าย ในกรณีของการวางกฏระเบียบนั้นก็ส่วนหนึ่งก็มีฐานความคิดที่มนุษย์โดยทั่วไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชั่วร้ายโดยกำเนิด มีความป่าเถื่อน ไร้ระเบียบ และเป็นสิ่งที่มักต้องถูกควบคุม กำกับ จัดการเอาไว้เพื่อให้อยู่ในร่องในรอย ซึ่งข้อถกเถียงนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างล้าสมัยพอสมควร ยุคหนึ่งมีการเถียงกันว่ามนุษย์เราเป็นมนุษย์ได้เพราะเรามีเหตุผลนะ เราคิดเป็น หรืออีกด้านก็บอกว่าเรามีความรู้สึก เราเลยมีความสามารถในเชิงศีลธรรมจริยธรรม
นึกออกมั้ยครับ ถ้าเรามองว่าต่อให้เป็นเด็ก แค่เด็กพวกนี้ก็มีความเป็นมนุษย์อยู่ มีความหลากหลาย เป็นสิ่งมีชีวิตคิดได้ และคิดเป็นประมาณหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ที่พอเปิดคอกแล้วจะต่างวิ่งเตลิดไปคนละทิศละทาง
ดังนั้นเองการบดบังนี้จึงไม่ได้อยู่แค่เส้นผมที่ตั้งกลมขึ้นบนหนทาง แต่สิ่งบังตาอาจเป็นการบดบังทางอุปมา คือเป็นการบดบังทางวิสัยทัศน์ที่เกิดจากกรอบคิด จากความกลัว จนบดบังสายตาและการรับฟัง ทั้งการรับฟังเหตุผล มองเห็นข้อมูลและวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ที่ทำให้เส้นทางของการศึกษานั้นหยุดอยู่กับที่
อ้างอิงข้อมูลจาก