การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ.2021 หรือ Tokyo 2020 Olympic Game ก็ได้เริ่มต้นขึ้นไปแล้ว และหลายท่านน่าจะเห็นพิธีเปิดตัวที่อาจจะดูเรียบง่ายแต่ก็สร้างสรรค์อย่างมาก ซึ่งในช่วงงานพิธีดังกล่าว ทั้งในสนามแข่งและในคลิปที่มีการตัดต่อออกมานั้น จะเห็นได้ว่ามีผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ร่วมกิจกรรมทั้งในส่วนการแสดงและในการอัญเชิญคบเพลิงอีกด้วย
แล้วถ้าย้อนเวลาไปอีกเล็กน้อย หลายท่านน่าจะได้เห็นเกม Doodle Champion Island Games บนหน้าเว็บ Google ที่ให้ผู้เล่นรับบทเป็นแมว Lucky ที่เดินทางไปแข่งกีฬาเจ็ดประเภทที่เกาะ Doodle Champion ถ้าสังเกตุตัวละครที่ผู้เล่นต้องไปแข่งกีฬาด้วย จะมีนักกีฬาพิการแทรกอยู่ในทุกการแข่งขัน ที่ชัดเจนที่สุดก็คงไม่พ้น เทนงุที่แข่งปิงปอง ซึ่งมีขาข้างหนึ่งเป็นขาเทียมสำหรับการเล่นกีฬา (Sports Prosthetic Leg)
หลายคนอาจจะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นเจตนาที่ต้องการจะโปรโมทการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก Tokyo 2020 Paralympic Game แต่ความจริงแล้วประเทศญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งจะเล่าเรื่องของนักกีฬาคนพิการผ่านวัฒนธรรมป๊อปกันเมื่อเร็วๆ นี้ พวกเขาเริ่มต้นกันตั้งแต่ราวปี ค.ศ.2017 แล้ว และไม่ได้เป็นการหยิบจับเอานักกีฬาพิการมาแทรกหรือสมทบในสื่อต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีการผลิตสื่ออีกหลายตัวที่ชาวญี่ปุ่นชูนักกีฬาพิการให้อยู่ในแสงไฟ รวมถึงใช้วัฒนธรรมป๊อปเสริมกำลังให้ผู้คนรู้จักกันมากขึ้น และเราตั้งใจจะมาบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวกันในวันนี้
ไม่ได้เพิ่งเริ่มแต่ถูกโปรโมทควบคู่กันกับงานโอลิมปิกมาตั้งแต่เนิ่นๆ
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.2016 ที่ประเทศบราซิล ในงานพิธีปิดของ Rio 2016 Olympic Game ได้กลายเป็นกระแสอย่างรุนแรง เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้นำเอา มาริโอ้ จากเกม Super Mario และ โดราเอมอน มาเป็นตัวแทนในการประกาศว่า การแข่งขันกีฬานานาชาติคราวหน้าจะจัดขึ้นที่แดนอาทิตย์อุทัย
ข้ามมาราวต้นปี ค.ศ.2017 ทางประเทศญี่ปุ่นก็ได้ประกาศให้ตัวละครการ์ตูนหลายตัว อาทิ อะตอม จาก เจ้าหนูปรมาณู, เซเลอร์มูน, ชินจัง จาก เครยอนชินจัง, ลูฟี่ จาก วันพีซ, นารูโตะ, จิบาเนียน จาก โยไควอช, โกคู จาก ดราก้อนบอล และ เคียวมิราเคิลกับเคียวเมจิคัล จากสาวน้อยเวทมนตร์พรีเคียว กลายเป็น ‘ทูตด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น’ ที่ช่วยโปรโมทงาน Tokyo 2020 Olympic Game
ในช่วงนั้นหลายคนก็ได้ลุ้นกันสนุกว่าจะมีวัฒนธรรมป๊อป จากฝั่งมังงะกับอนิเมะเรื่องใดที่จะมาร่วมโปรโมทการแข่งขันโอลิปิกอีกบ้าง แต่อีกด้านหนึ่ง ทางสถานีโทรทัศน์ NHK ที่ถือว่าเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญในการถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งงานโอลิมปิกและพาราลิมปิก ก็เริ่มประกาศงานอนิเมะ เพื่อโปรโมทการแข่งขันพาราลิมปิก ที่อาจจะโดนมองข้ามจากผู้ชมทั่วไปอยู่บ้าง
และแน่นอนว่าพวกเขาก็ไม่พลาดในการใช้อนิเมะเพื่อโปรโมทงานพาราลิมปิก และแผนการของพวกเขาก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะพวกเขาตั้งใจว่าจ้างให้สตูดิโอหลายแห่ง ทำงานร่วมกับนักเขียนมังงะชื่อดังกลายคน เพื่อร่วมกันสร้างเรื่องราวให้ผลงานอนิเมชั่นขนาดสั้นหลายเรื่อง ซึ่งผู้สร้างมังงะแต่ละคนก็ให้ความร่วมมือที่แตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะร่วมแต่งเรื่องกับทีมผู้สร้างอนิเมะ แต่ก็มีบางท่านที่มาแค่ร่วมออกแบบตัวละคร มีบางท่านให้ใช้ตัวละครจากผลงานดังของตัวเอง และมีบางเรื่องก็เชิญนักกีฬาคนพิการตัวจริงมาร่วมรับบทเป็นตัวเองอีกด้วย
อนิเมะชุดดังกล่าวได้ถูกตั้งชื่อว่า Ani x Para: Anata No Hero Wa Dare Desu Ka? หรือทื่มีชื่อทางการภาษาอังกฤษว่า Animation x Paralympic: Who Is Your Hero? เดิมทีมีกำหนด
ผลงานเด่นๆ ในอนิเมะชุดนี้ ก็จะมี Anime x Para Cycling ที่มีตัวละครจากเรื่อง โอตาคุปั่นสะท้านโลก มาซ้อมและเรียนรู้กีฬาพาราไซคลิ่ง ที่มีจักรยานหลากหลายแบบตามแต่ประเภทของผู้พิการ, Anime x Football 5-a-side ที่ได้อาจารย์ทาคาฮาชิ โยอิจิ ผู้เขียนมังงะกัปตันสึบาสะ มาเขียนบทเกี่ยวกับ ฟุตบอลคนพิการทางสายตา ที่ทีมญี่ปุ่นปะทะทีมบราซิล, Anime x Vision Impaired Marathon ที่นำเอาตัวละครจากมังงะเรื่อง Mashiro Hi มาจับคู่กับนักวิ่งผู้พิการทางการมองเห็นหน้าใหม่ที่มีสถิติดีแต่ยังไม่เคยมีไกด์รันเนอร์ (Guide Runner) มาก่อน และตัวอนิเมะได้ LiSA นักร้องจากดาบพิฆาตอสูร มาร้องเพลงประกอบให้
อย่างไรก็ตามตัวอนิเมชั่นเหล่านั้น มีความยาวไม่เกิน 5 นาที และถูกแบ่งเวลาฉายในจังหวะที่ค่อนข้างจะห่างกัน เลยทำให้ตัวงานอาจจะไม่โดนพูดถึงมากนัก แต่ก็เป็นโชคดีที่งานทั้งหมดนั้นถูกนำมาฉายพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษบนแชนแนลยูทูบ ของทาง NHK World-Japan ให้ผู้ชมทั่วโลกได้รับชมกัน
และ NHK ยังได้ผลิตอนิเมะชื่อ Breakers ที่เจาะกลุ่มผู้ชมวัยเด็ก ที่เล่าเรื่องของผู้พิการในวัยเรียน ที่ได้รับความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำยุค ในการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นในการเล่นกีฬาได้ดียิ่งขึ้น และตัวงานดังกล่าวยังมี คุณเรนชิ โชไค (Renshi Shokai) นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติญี่ปุ่น มาเป็นที่ปรึกษาในด้านการหาข้อมูลอีกด้วย
บอกได้ว่าอนิเมะทั้งสองเรื่อง ถึงจะเป็นการ์ตูน แต่ด้านข้อมูลก็ยังอิงจากโลกแห่งความเป็นจริงอยู่มากนั่นเอง
ไม่ได้มาแค่ NHK แต่ยังมีสื่อเจ้าอื่น ประเภทอื่นอีกด้วย
เรายังขอวนเวียนอยู่กับทาง NHK กันอีกสักนิดครับ เพราะองค์กรแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่น ยังได้ทำการผลิตสื่อบันเทิงแนวอื่นในการช่วยผลักดันให้คนทั่วไปเข้าใจกีฬาคนพิการมากขึ้นด้วยการผลิตผลงานแนวโทคุซัทสึ หรือ ซีรีส์แปลงร่าง สไตล์ มาสค์ไรเดอร์ หรืออุลตร้าแมน
ตัวซีรีส์ที่ทาง NHK บริหารงานสร้างก็คือ Chousoku Parahero Gandine (พาราฮีโร่ความเร็วสูงกานดีน) ที่แม้ว่าจะมาเป็นซีรีส์ขนาดสั้น แต่ไม่ได้มากันแบบเล่นๆ เพราะได้ทั้งผู้กำกับจากทางฝั่งอุลตร้าแมนมากำกับผลงาน รวมถึงได้ดีไซน์เนอร์จากแฟรนไชส์ก็อตซิลล่ามาออกแบบตัวละคร
และในภาคนักแสดงก็ได้นักแสดงอย่าง คุณโซ โอคุโนะ (So Okuno) ที่เคยเป็นตัวเอกของมาสค์ไรเดอร์จิโอ มารับบทนำ โมริมิยะ ไดชิ นักกีฬาพิการ ม.ปลาย ที่พยายามฝึกฝีมือเข้าแข่งกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง ก่อนจะได้รับพลังจากมนุษย์ต่างดาวจนสามารถแปลงร่างเป็น กานดีน ได้ มีคุณฟูกะ โคชิบะ (Fuka Koshiba) ที่เคยรับบทนำในภาพยนตร์แม่มดน้อยกิกิฉบับคนแสดง มารับบท ฟุไค เคย์ อดีตนักกรีฑาที่ผันตัวมาเป็นโค้ชและรับหน้าที่คิดตารางฝึกสอนให้ไดชิ และได้คุณทาเคชิ สึรุโนะ (Takeshi Tsuruno) ที่คนไทยคุ้นเคยจากการเป็นตัวเอกในอุลตร้าแมนไดน่า มารับบท โมริมิยะ เก็น คุณพ่อสายช่างที่คอยช่วยสนับสนุนลูกชาย
นอกจากพลอทเรื่องที่ต่อสู้ปกป้องโลกจากสัตว์ประหลาดแล้ว ก็ยังมีการนำเสนอการใช้ชีวิตของคนพิการในญี่ปุ่นที่อาจจะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ก็ยังใช้ชีวิตได้อย่างไม่ยากเย็น ส่วนฉากแอคชั่นก็ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่แต่อย่างใด จนเสียดายที่เรื่องราวสั้นเกินไปสักหน่อย
นอกจากสื่อโทรทัศน์แล้ว อีกสื่อหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกันดีก็จะเป็นฟากฝั่งของมังงะนั่นเอง โดยทางบริษัทชูเอย์ฉะ เจ้าของนิตยสารโชเน็นจัมพ์ที่หลายท่านคุ้นเคย ก็ได้ร่วมมือกับทางเว็บไซต์ข่าวกีฬา Sportiva ของประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันผลิตหนังสือประเภท MOOK (Magazine + Book) ที่ใช้ชื่อว่า Tokyo 20202 Paralympic Jump
ตัวหนังสือซีรีส์ดังกล่าว ได้อาจารย์ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ (Takehiko Inoue) ผู้เขียนมังงะ Real, Slam Dunk ทำการวาดภาพปกให้ ส่วนเนื้อหาในแต่ละเล่มนั้น ก็จะมีนักเขียนมังงะชื่อดัง สลับสับเปลี่ยนมาวาดมังงะเรื่องสั้นขนาดยาวที่เกี่ยวข้องกับคนพิการให้ อาทิ อาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ (Yoichi Takahashi) ผู้เขียนมังงะกัปตันสึบาสะ, มาเขียนเรื่องสั้นชื่อ Bravo Blind Soccer (ที่เป็นโครงเรื่องให้กับอนิเมะสั้นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้), อาจารย์เท็ตสึยะ ซารุวาตาริ (Tetsuya Saruwatari) ผู้วาดมังงะเรื่อง Tough ใครว่าข้าไม่เก่ง ก็มาทำการวาดมังงะ Tough Bangai-Hen Yawara No Shou ที่มาเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้ของนักยูโดตาบอด
เนื้อหาอื่นๆ ในหนังสือ Paralympic Jump ก็จะมีบทสัมภาษณ์บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬาพิการในทางใดทางหนึ่ง รวมไปถึงมีภาพถ่ายสไตล์กราเวียจากนักกีฬาพิการ ซึ่งเป็นการถ่ายทำให้ล้อไปว่า หนังสือเล่มนี้ก็เป็นนิตยสารปกติเล่มหนึ่งที่มีคนอ่านไม่ใช่แค่วัยเด็กเท่านั้น
ตัวหนังสือโดนทักท้วงจากฝั่งนักวิชาการ อยู่บ้างว่าตั้งใจสร้างมาเพื่อเป็นงานเฉพาะกิจมากเกินไป แต่จากเนื้อหาที่จัดเต็มก็ทำให้มีอีกฝ่ายกล่าวว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้คนที่อาจจะเคยมองข้ามเรื่องราวของผู้พิการมาก่อนได้สนใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น
นอกจากภาคเอกชนที่ตั้งใจทำงานวัฒนธรรมป๊อปเพื่อดึงดูดคนให้สนใจการแข่งขัน ทางคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นเองก็มีการชวนศิลปินนักวาดมาร่วมภาพประกอบให้กับสูจิบัตรของงานบ้าง หรือวาดโปสเตอร์บ้าง อย่างไรก็ตามมีนักวาดมังงะท่านหนึ่งที่ตั้งใจวาดภาพอุทิศให้กับงานพาราลิมปิกอย่างชัดเจน
นักวาดท่านดังกล่าวก็คืออาจารย์ฮิโรฮิโกะ อารากิ(Hirohiko Araki) เจ้าของผลงานโจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ที่นำเอาภาพพิมพ์แกะไม้ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ ของคัตสึชิกะ โฮกูไซ (Katsushika Hokusai) ศิลปินระดับนามอุโฆษของญี่ปุ่น มาตีความใหม่เป็นภาพที่ได้ชื่อว่า ‘ท้องฟ้าเหนือคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ’ ที่ตัวภาพจะมีนักกีฬาสองคนที่นักวิ่งผู้พิการสองคน วิ่งกระโจนไปเหนือฟ้าและเหนือคลื่นไปสู่เส้นชัยที่อยู่ไกลออกไป ตัวรูปดังกล่าวยังมีกิมมิคเกี่ยวกับผลงาน โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษอยู่ในภาพอีกมากมายด้วย
และถ้าเอางานอนิเมะมังงะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานพาราลิมปิกโดยตรง แต่ถ้าดูจากเจตนาในการจัดฉายที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงคาบเกี่ยวกับการโปรโมทงานโอลิมปิกและพาราลิมปิก ทำให้เราคิดว่าทีมงานของภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง Josee To Tora To Sakana-tachi ตั้งใจบอกเล่าและนำเสนอหลายๆ ฉากให้กับตัวนางเอกของเรื่อง เดินทางไปไหนมาไหน ทั้งในการเดินทางทั่วไป หรือการท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งภาพเล็กๆ น้อยๆ นี้ก็เป็นสร้างภาพที่ทำให้คนทั่วไป หรือผู้ชมชาวต่างชาติ รู้สึกว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นสถานที่ที่คนพิการยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างค่อนข้างสบายใจอีกด้วย
ไม่ใช่แค่เพื่อวันนี้ แต่เพื่อวันพรุ่ง
จริงๆ แล้วมีผลงานชิ้นหนึ่งที่ทาง Kyoto Animation ร่วมสร้างอยู่ด้วย แต่ได้ถูกยกเลิกไปเพราะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับผู้สร้างที่มีประสบการณ์สร้างอนิเมะที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการนั่นเอง และผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ทำให้มีการปรับเปลี่ยนแผนการที่จะใช้วัฒนธรรมป๊อปผลักดันทั้งงานโอลิมปิ และพาราลิมปิก ให้อยู่ในระดับที่ไม่เอิกเกริกจนเกินงามมากนัก (แม้ว่านักีฬาจากนานาชาติจะปลดปล่อยความเป็นโอตาคุออกมาเรื่อยๆ ก็ตามที)
และนอกจากเรื่องวัฒนธรรมป๊อปที่เรากล่าวถึงไปแล้ว คนทำงานในประเทศญี่ปุ่นก็ทำการเอานักกีฬาพิการทีตัวจริงไปปรากฏตัวบนสื่อต่างๆ มากขึ้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพยายามผลักดันทางการตลาดให้ตัวงานพาราลิมปิกเป็นที่สนใจจากคนทั่วไปมากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเป้าหมายในการผลักดันทางสังคมของคนญี่ปุ่นที่เดิมทีเคยมีความเชื่อว่า ‘ผู้มีความพิการ ไม่มีทางเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวได้’ แม้ว่าในประเทศญี่ปุ่นจะมีกฎหมาย มีหน่วยงาน และมีการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสภาพแวดล้อมหลายแห่งในลักษณะ Universal design อย่างมากก็ตาม
แต่ถ้ามองประเทศญี่ปุ่นผ่านวัฒนธรรมป๊อป จะเห็นได้ว่าตัวละครผู้พิการนั้น ค่อนข้างจะเป็นปกติอยู่ในผลงานป๊อปๆ เหล่านั้น ผลงานหลายเรื่องมักจะมีตัวละครอย่างน้อยสักหนึ่งตัวในเรื่องที่มีความพิการ หรือถ้าบอกว่าคนญี่ปุ่นรุ่นหลังที่โตมาพร้อมกับเกม, มังงะ หรืออนิเมะ ก็จะคุ้นเคยกับคนพิการมากขึ้นแล้ว ติดตรงแต่ตัวละครเหล่านั้นก็มักจะมาพร้อมกับพลังพิเศษเหนือจริงอยู่เสมอ
การโปรโมทกีฬาพาราลิมปิกด้วยวัฒนธรรมป๊อป จึงเป็นทั้งนัยยะสำคัญทั้งจากคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล ที่ผลักดันให้การแข่งขันครั้งนี้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่การปรากฏตัวในงานพิธีการเท่านั้น แต่มีการปรับเงินรางวัลของผู้ได้รับเหรียญพาราลิมปิก ได้มูลค่าเท่ากันกับนักกีฬาที่ได้เหรียญโอลิมปิก ในการแข่งขัน Tokyo 2020 Paralympics เป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับสัญลักษณ์ Agitos ที่มาจากภาษาละตินและมีความหมายว่า ‘มีความเคลื่อนไหว’ และ ‘มุ่งไปข้างหน้า’
และสำหรับประเทศญี่ปุ่นเอง การโปรโมทนักกีฬาคนพิการเช่นนี้ ก็เป็นการผลักดันที่สำคัญทางสังคม เพื่อทำให้คนรุ่นเก่าได้รับรู้ว่า คนพิการแท้จริงแล้วก็อยู่รอบตัวเราเสมอ ทำให้คนรุ่นปัจจุบันยังตระหนักว่า คนพิการอาจจะช่วยเหลือตัวเองได้มาก แต่พวกเขาไม่ได้มีพลังพิเศษเหนือคนอื่น และทำให้คนรุ่นต่อไปได้คุ้นเคยว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร ถ้าอยู่ในสังคมที่ดีและพร้อมเปิดรับความแตกต่าง จะไม่มีใครที่เติบโตในสังคมนั้น ถูกทิ้งไว้อยู่ภายในบ้านอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
เว็บไซต์ทางการนิตยสาร Paralympic Jump