เรื่องการรักษ์โลกเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมมนุษย์ มีความเชื่อและมีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนให้เราเข้าใจได้ว่า มนุษย์นั้นคือตัวการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ บ้างก็ถึงขั้นเปรียบเปรยว่า ‘มนุษย์คือปรสิตของโลก’ เสียเลย หลายๆ คนมีความรู้สึกไม่ดีร่วมกันเมื่อเห็นภาพขยะในแม่น้ำ หรือฝุ่นควันมลพิษ หรือภาพสัตว์ทะเลที่ติดหล่มกับขยะพลาสติก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมของมนุษย์มีส่วนร่วมสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาจริง แต่คำถามสำคัญก็คือ เราควรรักษ์โลกเพื่ออะไร เราต้องเป็นห่วงสุขภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้จริงๆ หรือ?
หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา แท้จริงเราอาจไม่ได้รักษ์โลกเพราะเราเป็นห่วงเป็นใยเจ้าดาวสีเขียวฟ้าดวงนี้ แต่เป็นเพราะโลกใบนี้คือบ้านที่อยู่อาศัยของพวกเราเหล่าโฮโมเซเปียนส์ และเป็นดาวดวงเดียวเท่าที่เราพอจะรู้จักที่อนุญาตให้เราหายใจ เราจึงต้องดูแลมันเป็นอย่างดี หรือว่าอย่างง่ายก็คือ ‘เราต้องรักษ์โลกเพื่อเผ่าพันธุ์ของเราเอง’ และเมื่อมองไปยังแคมเปญรักษ์โลกที่เรามักเห็นกัน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือในกิจกรรมเพื่อสังคมที่พบได้ตามบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เหตุใดพวกเขาจึงนิยมวาดภาพให้เหมือนจะสื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือบุญกุศลที่เราทำให้กับโลกใบนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง โลกอาจไม่ต้องการให้เราช่วยเลยก็ได้
ทุกวันนี้เราพบปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปริมาณมหาศาลเกินจะเอ่ยถึงในหนึ่งหน้ากระดาษเสียด้วย ตั้งแต่ปัญหาฝุ่นควันมลพิษ ขยะพลาสติก สารตกค้างกัมมันตภาพรังสี โรคระบาดจากอุตสาหกรรมอาหาร อุณหภูมิที่สูงขึ้นนำมาซึ่งภัยแล้ง และการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำทะเลซึ่งเพิ่มโอกาสอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่อาศัยการสูบน้ำบาดาลใช้มาเป็นเวลานาน ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สูงกว่าน้ำทะเลเพียงไม่ถึง 1.5 เมตร และมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อยๆ หรือปัญหาเรื่องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั้งหลาย ปัญหาการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ปัญหาเรื่องสิ่งตกค้างจากการผลิตพลังงาน ปัญหาเรื่องการถางป่าและการสร้างเมือง ฯลฯ เราสามารถคุยเรื่องนี้ได้เป็นวันเป็นคืนเลย
แต่มีข้อเสนอที่น่าคิดและค่อนข้างท้าทายคือ เจ้าโลกดวงนี้ต้องการให้เราช่วยจริงหรือ?
และเราเหล่ามนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ จะมีอำนาจ หรือสามารถสร้างอิทธิพลอะไรที่ส่งผลแก่สุขภาพของโลกได้ขนาดนั้นหรือเปล่า
ก่อนอื่นเราอาจจะต้องมาดูข้อเท็จจริงบางอย่างกันก่อน ประการแรก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโลกนั้นดำรงมาแล้วมากกว่า 4500 ล้านปี ในขณะที่มนุษย์นั้นเชื่อว่าเริ่มถือกำเนิดมาได้ไม่เกิน 3 แสนปี และอุตสาหกรรมพลาสติกเริ่มถือกำเนิดในปี ค.ศ.1907 นั่นคือประมาณ 115 ปีที่แล้ว
แน่นอนหากเราคิดในมุมนี้ว่า โลกที่อยู่มาเป็นพันล้านปี ปัจจุบันเต็มไปด้วยขยะพลาสติกซึ่งถูกสร้างขึ้นเพียงไม่ถึง 120 ปีที่ผ่านมา โดยฝีมือมนุษย์ซึ่งดำรงอยู่เพียงไม่ถึง 3 แสนปีมานี้ ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นทรงพลังและยิ่งใหญ่มากพอสมควร
ในอีกแง่หนึ่ง โลกนั้นอยู่มาเกิน 4500 ล้านปี มันผ่านทั้งอุกกาบาตและดาวตกเป็นล้านลูกพุ่งเข้าชน แผ่นดินไหวนานับไม่ถ้วน น้ำท่วมโลก หิมะถล่ม ยุคน้ำแข็ง เปลวสุริยะหรือพายุสุริยะนำไปสู่การเกิดการแกว่งหรือปั่นป่วนของสนามแม่เหล็กของโลกบางทีเรียกว่าพายุแม่เหล็กโลก การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกหรือที่เรียกว่า การแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค (plate tectonic) การขยับตัวของแกนโลก คลื่นสึนามิยักษ์ หรือการเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างฉับพลัน และอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล แล้วพลาสติกจากฝีมือมนุษย์ล่ะ จะทำร้ายสุขภาพของโลกได้แค่ไหนกัน
จริงที่ว่า มนุษย์นั้นทรงพลังและมีอิทธิพลที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลกได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่มนุษย์ทำนั้นส่งผลต่อสุขภาพของโลก ในความหมายที่ว่าเราจะทำโลกนี้แตกสลายหรือกลายมาเป็นดาวเคราะห์ที่พังพินาศ สำคัญคือสิ่งที่เราทำลงไป ล้วนแล้วส่งอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกรวมถึงตัวเราเองต่างหาก
และความคิดของการพยายามสำคัญตัวเชื่อว่าเราคือคนสำคัญที่ต้องมารักษาดูแลสุขภาพของโลกใบนี้ มันอาจจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป เพราะหากคิดดูดีๆ การประดิษฐ์พลาสติกขึ้นมา ก็มีเจตนาเพื่อให้เราใช้ทดแทนทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่นกัน นั่นสามารถนับว่าเป็นความโอหังเกินไปของมนุษย์อย่างเราๆ หรือเปล่า
หากเรามองว่า พลาสติกนั้น แท้จริงก็ถูกสร้างขึ้นมาจากฟอสซิล ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรโลก หากโลกนั้นมีความคิดเป็นของตัวเอง โลกอาจจะมองว่าพลาสติกก็เป็นรูปแบบหนึ่งของฟอสซิลแปรรูป ซึ่งไม่ได้ส่งผลอะไรกับตัวมันขนาดนั้น และโลกก็อาจจะมองเห็นมนุษย์ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพียงแต่อาจเป็นสายพันธุ์ที่รบกวนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากเกินไปหน่อย เพราะปัญหาที่แท้จริงของประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ ผลกระทบที่ตกแก่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งส่งผลแก่ระบบห่วงโซ่อาหาร และย่อมส่งผลต่อการเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรง บางทีเราอาจต้องยอมรับว่า เราไม่ได้ต้องรักษ์โลกเพราะเราเป็นห่วงสุขภาพของโลกใบนี้ เราเพียงแต่ต้องรักษ์โลกเพียงเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกเราเอาไว้
ข้อเท็จจริงอีกประการคือ บนโลกใบนี้เคยมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมามากมายนับล้านล้านสายพันธุ์ และอาจจะมากเกินกว่าจะจินตนาการ หากเรานับจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรียเป็นรูปแบบหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ที่น่าสนใจคือ มีมากกว่า 90% ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และมันไม่เกี่ยวอะไรกับการกระทำของมนุษย์ เพราะส่วนมากนั้นเกิดขึ้นมาก่อนจะมีมนุษย์เสียอีก
ในท้ายที่สุดหากเรายังคงเชื่อว่า เราเหล่ามนุษย์นั้นเป็นปรสิตชั้นเอกของดาวเคราะห์สีเขียวฟ้าดวงนี้ ที่มีอำนาจและอิทธิพลอย่างยิ่งในการทำลายสุขภาพของโลกทั้งใบอย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นไปได้ว่า ถ้าโลกมองตัวเองป็นภัยคุกคามที่ต้องจัดการ โลกนั้นก็คงมีวิธีมากมายที่จะใช้ขจัดปัดเขี่ยพวกเราได้ในทันทีทันใด อย่างที่หลายๆ คนมักพูดประโยคที่ว่า ‘ธรรมชาติเอาคืน’ เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติทั้งหลายนั่นเอง หรือวิธีที่สร้างสรรค์ขึ้นมาหน่อย ก็คงไม่พ้นรูปแบบของโรคระบาด อาจจะเป็นโรคที่ทำลายอวัยวะภายในของพวกเรา โรคที่สามารถทำให้การดำรงชีวิตของเราขุ่นเคือง โรคที่มีไว้เพื่อควบคุมประชากรมนุษย์อย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่ทำลายระบบหายใจของเรา COVID-19 ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญ เมื่ออุตสาหกรรมอาหารเริ่มขยายใหญ่โตในสังคมมนุษย์ ความต้องการบริโภคที่ไม่สิ้นสุด นำไปสู่การฝืนธรรมชาติที่บังคับให้สัตว์จำนวนมากที่มาอยู่ในพื้นที่แคบๆ และสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว เรายังคิดจะต้องมาดูแลสุขภาพของโลกใบนี้อยู่อีกเหรอ
เจตนาที่สำคัญของบทความชิ้นนี้ เพียงอยากชักชวนมากคิดทบทวนถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของแคมเปญรักษ์โลกที่เราพบเห็นได้ทั่วไป เราจำเป็นต้องรักษ์โลกเพื่อโลก หรือที่จริง การมองว่าเรารักษ์โลกเพื่อตัวเองหรือพวกเรากันเองก็อาจจะเพียงพอแล้ว
บางทีหากเราเริ่มต้นด้วยองศาทางความคิดที่ตรงไปตรงมา มันอาจทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับสังคมในภาพที่ใหญ่ขึ้นได้ อาทิ เป็นไปได้ไหมว่าการที่ปัจเจกบุคคลหนึ่งคนใช้ถุงพลาสติกทุกวันตลอดชีวิต ก็อาจจะไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้กับที่เท่าโรงงานอุตสาหกรรมทำในหนึ่งวัน หรือการทำกิจกรรม CSR ในบริษัทเอกชนทั้งหลาย พวกเขาทำกิจกรรมเหล่านี้ เพราะเขารักโลก หรือเขาแค่ชอบภาพลักษณ์ของการรักษ์โลกกันแน่นะ แถมยังได้ส่วนลดภาษีอีกด้วย หรือถ้าภาครัฐอยากสนับสนุนให้เราใช้ถุงผ้าเพื่อลดขยะพลาสติก ทำไมต้องมีการนำเข้าขยะเข้ามาอีก
อย่างน้อยหากเราเริ่มต้นความคิดที่จะรักษ์โลกอย่างซื่อตรงบ้าง โลกนี้อาจจะยังอยากอนุญาตให้ลูกหลานของเราได้หายใจและอาศัยอยู่ต่อไปก็ได้นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- AGE OF EARTH COLLECTION (National Geographic., nd), education.nationalgeographic.org
- “กรุงเทพฯ” เหลือเวลาเพียง 13 ปี ก่อนจมน้ำถาวร!? (กรุงเทพธุรกิจ, 28 ก.ย.2564), bangkokbiznews.com
- “Do humans provide any benefit to planet Earth except for ourselves?” (News Scientist.,9 June 2021), newscientist.com
- THE AGE OF PLASTIC: FROM PARKESINE TO POLLUTION (Science Museum., 11 October 2019), sciencemuseum.org.uk
- Giant Panda (Animal Fact Guide., nd), animalfactguide.com
- What are mass extinctions, and what causes them? (MICHAEL GRESHKO AND NATIONAL GEOGRAPHIC STAFF., 26 September 2019) nationalgeographic.com
Illustration by Kodchakorn Thammachart