‘บุพเพสันนิวาส’ เรตติ้งพุ่งพรวด คนชอบศรคีรี ศรีประจวบเยี่ยงผมก็พลอยยินดีปรีดาไปด้วย เอ้ย ไม่ใช่ นั่นเพลงลูกทุ่งนี่หว่า แต่ที่กำลังกลายเป็นกระแสได้แก่ละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ทางโทรทัศน์ช่อง 3 ต่างหาก ชะรอย ‘อัตโน’ จักเข้าใจผิดเสียยกใหญ่ (‘อัตโน’ หมายถึงข้าพเจ้า ถ้อยคำนี้หล่นจากริมฝีปากชาวสยามยุคเดียวกับ ‘ออเจ้า’ จึงขอใช้สรรพนามแทนตัวเองสลับกันทั้งผมและอัตโน)
สิ่งที่จะเมาท์มอยให้ฟัง สืบเนื่องมาจากความโด่งดังของละครแหละฮะ เพลานี้ หันทางไหนแว่วยินคนพูดถึงเยอะแยะเชียว ออเจ้าอย่างนั้น ออเจ้าอย่างโน้น พอใครลองบอกเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับละคร โอ้โห ดูเหมือนได้รับความนิยมชมชอบแพร่หลาย ยอดแชร์ยอด Like ถล่มกระจาย แหม ผมเองนึกปรารถนาสาธยายขึ้นบ้างสิขอรับ ผู้รู้หลายต่อหลายท่านเขียนกันหลายต่อหลายเรื่องแล้ว อ้อ ยังมีข้อมูลแหวกแนวทำนองหนึ่งซึ่งผมบังเอิญอ่านพบ แต่ไม่ยักเห็นใครนำมาขยายเท่าไหร่ เอาล่ะ อย่างไม่เคอะเขิน ออเจ้าทั้งหลายโปรดเตรียมตัวตื่นเต้น มิทันชั่วเคี้ยวหมากฝรั่งแหลก อัตโนจักฝอยฟุ้งประเด็นที่คอนสแตนติน ฟอลคอนถูกเคลือบแคลงว่าอาจเป็นชายรักชาย!
ตามท้องเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ได้ฉายภาพประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทว่าละครกลับเก๋ไก๋ด้วยพล็อตประเภทนางเอกยุคปัจจุบันคือเกศสุรางค์สามารถย้อนเวลาไปสิงร่างแม่การะเกด คอยออเซาะพ่อเดช (ว้าว พี่โป๊บ ธนวรรธน์) พระเอกผู้รั้งตำแหน่งขุนนาง ‘หมื่นสุนทรเทวา’ ในอดีต พอชมเพลินๆ สาวๆควีโยมิเลยพากันฟินจิกหมอนถ้วนหน้า
สมมติอยู่ดีๆ เรา ‘วาร์ป’ ไปโผล่ท่ามกลางบรรยากาศกรุงศรีอยุธยาได้จริงๆ คงหาใช่ความน่าสนุกเลยสักนิดสำหรับพวก ‘นิยมบริโภค’ เยี่ยงผม ตัวละครเกศสุรางค์สาวตุ้มตุ้ย (ออเจ้าโว้ย! เบลล่า ราณี แคมเปนตีบทแตกเหลือเกิน) เธออยากผอมเพรียว ขณะที่ผมนี่อยากอ้วนท้วนสมบูรณ์และชอบกินหลากหลาย นางเอกเรียนโบราณคดี เคยอ่านจดหมายเหตุของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตชาวฝรั่งเศสชุดที่ 2 ผู้ถือสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาเจริญสัมพันธไมตรีสมัยพระนารายณ์ฯ ผมเองเรียนประวัติศาสตร์ มิแคล้วต้องพึมพำเนื้อความที่เมอร์สิเออร์ลาลูแบร์จดไว้หลายหน แต่นั่นล่ะฮะ เกิดพลัดหลงไปเตร็ดเตร่เงอะงะยุคนั้นเข้า อัตโนหิวโหยตาเหลือกตาลายแน่แท้ เพราะอะไรนะรึ? อ้าว ก็ชาวอยุธยาเมื่อ 300 กว่าปีก่อนไม่ค่อยชอบกินอะไรๆ แบบที่เราๆ ท่านๆ เอร็ดอร่อยกันทุกวันนี้สิจ๊ะ
ในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ มีอยู่ตอนหนึ่งที่แม่การะเกด (โดยตัวตนของเกศสุรางค์) จัดแจงทำหมูจะกระทะให้สมาชิกประจำเรือนคุณพี่หมื่นเดชเจ้าคะได้ลิ้มลองรสชาติ ฉากนี้เก๋ไก๋ดีและสะดุดตาอัตโนมากๆ การกินหมูกระทะเป็นวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน แต่ไปปรากฏในยุคกรุงศรีฯ ได้ แนวคิดไฉไลเลอเลิศซะ แต่หากเชื่อบันทึกลาลูแบร์ ก็ต้องเชื่อด้วยว่าชาวสยามสมัยนั้นไม่คุ้นเคยเนื้อสัตว์ย่าง เพราะ “ชาวสยามไม่ค่อยนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ แม้จะมีผู้นำมาให้ แต่ถ้าจะบริโภคบ้างก็พอใจแต่ลำไส้และเครื่องในทั้งหลายที่พวกเราไม่ชอบบริโภคกัน ในท้องตลาดสยามมีตัวแมลงต่างๆ ปิ้งบ้างย่างบ้างวางขาย แต่ไม่เห็นเนื้อย่างหรือโรงฆ่าสัตว์แต่สักแห่ง”
อย่างงี้ ปกติก็ไม่น่าจะมีหมูกระทะให้กินนะซี เว้นแต่ได้เจอะออเจ้าการะเกดคนสวย
ยิ่งใครชื่นชอบเนื้อวัว ลุ่มหลงโพนยางคำสไตล์ ดมกลิ่นเนื้อสันนอกย่างเนยแล้ววาบหวิวชิวหา ขืนย้อนเวลาไปถึงขั้นอดอยากเชียวล่ะ ชาวอยุธยาไม่ยอมล้มวัวให้กินง่ายๆ ด้วยความเชื่อฝังหัวเรื่องพระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นวัว ทั้งยังเชื่อกันว่าวิญญาณบรรพบุรุษหรือญาติสนิทมิตรสหายผู้ล่วงลับได้สิงสู่ในตัวสัตว์สี่เท้าทั้งหลาย ไม่ฆ่าดีกว่า พวกฆ่าสัตว์ขายเนื้อตามตลาดกรุงศรีฯ ส่วนใหญ่เป็นพวกมอญพวกพม่าพวกแขกทั้งสิ้น โอ๊ย เนยนี่แทบจะหายาก อาจมีบ้างที่พวกแขกมัวร์ทำขายหรือนำเข้ามาจากเบงกอลนะจ๊ะนายจ๋า
แล้วชาวสยามรุ่นคุณพี่หมื่นสุนทรเทวารับประทานอะไรกันเจ้าคะ? ที่กินกันก็เป็นข้าว ผัก ผลไม้ ปลาแห้ง ไข่ไก่ และของอร่อยชวนน้ำลายสอได้แก่ ไข่จระเข้ โดยเฉพาะฟองไข่ที่กกไว้ใต้พุงนานๆ นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) มิชชันนารีหนึ่งในคณะทูตจากฝรั่งเศสชุดแรก (ติดตามมาพร้อมเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์) รับประกันได้เลย เมอสิเออร์ลาลูแบร์ยังเคยเห็นชาวสยามกินเต่ากินปลาไหล แต่ไม่ชอบกินเนื้อปลาสด ทางด้านมุหัมมัด ราบิ อิบน์ มุหัมมัด อิบรอฮีม (Muhammad Rabi Ibn Muhammad Ibrahim) อาลักษณ์ประจำตัวราชทูตเปอร์เซียเปิดเผยว่า ชาวกรุงศรีฯ ชอบกินข้าวกับต้มหัวปลา
ประชาชนอยุธยาดื่มน้ำเปล่าเนืองนิจ นานๆ ทีวันงานเทศกาลพิเศษอาจฟาดเหล้าจนเมามาย เมาหัวราน้ำ หาได้แค่แกล้งทำตัวโซงโลงเซงเลงแบบพี่หมื่นเดช แล้วถ้าเป็นโกโก้อันเครื่องดื่มสุดโปรดปรานสำหรับผม คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแลเห็นร้านชงโกโก้ขายตามมุมถนนดังเช่นปีพุทธศักราช 2561 แม้ลาลูแบร์ป้องปากแจ้วๆ ข้างหูว่า พวกชาวโปรตุเกสมีโกโก้ไว้ละเลียดดื่มอย่างละมุนลิ้น นำเข้าจากมะนิลาซึ่งส่งต่อมาจากดินแดนทางตะวันออกของอินเดียอีกทอด หากอัตโนอยากชิมขึ้นมา ควรแวะไปจีบแม่สาวฝรั่งแถวย่านโปรตุเกสกระนั้นรึ
เฉไฉไปคุยโม้ถึงอาหารการกินพอเรียกน้ำย่อยเขย่ากระเพาะ เพื่อยืนยันว่าผมเองไม่มีทางอยากย้อนไปใช้ชีวิตเฉกเช่นเกศสุรางค์หรอก เหตุผลข้ออ้างเรื่องความตะกละส่วนตัวล้วนๆ
วกสู่เรื่องเด็ดที่เจตนาจาระไนเถิด ใน ‘บุพเพสันนิวาส’ นอกเหนือจากตัวละครแม่การะเกดควงคู่พี่หมื่นเดชซึ่งเป็นที่คลั่งไคล้ทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว ผู้ชมจำนวนมิใช่น้อยสนอกสนใจต่อฟอลคอนและมะลิ ผมเองหลงใหลมะลิมากกว่าฟอลคอน ไม่เชื่อลองจิ้มปาท่องโก๋ดูเถอะ เดี๋ยวๆ นั่นมันยี่ห้อนมข้นกระป๋อง ดึงสติแพบ
ตัวละครฟอลคอนที่เราเห็นโลดแล่นผ่านภาพลักษณ์ซึ่งหลุยส์ สก๊อตสวมบทบาท ‘รอมแพง’ ผู้เขียนนวนิยายได้ถอดแบบบุคคลจริงในหน้าประวัติศาสตร์อย่างออกญาวิชาเยนทร์ ชาวกรีกแห่งเซฟาโลเนีย (Cephalonia) เกาะใหญ่สุดในหมู่เกาะไอโอเนียน เดิมทีเขามีชื่อในภาษาถิ่นกำเนิด ‘คอนสตันตีโนส เยรากิส’ (Konstantinos Gerakis) ริมฝีปากหลายคนเรียกขานกัน ‘เยรากี’ แปลว่าเหยี่ยว พอทำงานเดินเรือกับชาวอังกฤษพลันเปลี่ยนมาใช้นาม ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ แทน หากในบันทึกชาวฝรั่งเศสมักจดลงเป็น ‘ม. ก็องสตังซ์’
ฝ่ายแม่มะลิหรือตองกีมาร์ (Tanquimar) สาวลูกครึ่งแขกผสมโปรตุเกสและญี่ปุ่น ซึ่งแสดงโดย ซูซี่ สุษิรา แน่นหนา คุณสมบัติตรงเผงกับมารี กูโยมาร์ เด ปินา (Maria Guyomar de Pinha) หรือท้าวทองกีบม้าอย่างมิพักสงสัย ตามบทประพันธ์ รอมแพงผูกเรื่องให้เธอหลงรักพระเอกคือคุณพี่หมื่นสุนทรเทวา แต่ท้ายสุดยอมจำนนเข้าพิธีสมรสด้วยวัยเพียง 16 ขวบเคียงข้างออกญาวิชาเยนทร์อายุ 40 ปี ทั้งๆ ที่เธอเองรู้สึกอกหักจากคุณพี่หมื่น สรุปฟอลคอนได้เมียเด็กเอ๊าะๆ ชาวไทยปัจจุบันยังรู้จักท้าวทองกีบม้าด้วยสถานะผู้เป็นต้นตำรับขนมหวานจำพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง แต่กว่าเธอจะได้เข้าไปทำขนมในวังก็รัชสมัยพระเจ้าท้ายสระแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงโน่น เพราะภายหลังออกญาวิชาเยนทร์สิ้นชีพตอนพระเพทราชายึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ มารี กีมาร์กับจอร์จ ฟอลคอนลูกชายวัย 4 ขวบต้องตกระกำลำบากเหลือแสน ทั้งถูกจับกุมคุมขังและซัดเซเร่ร่อนขอทาน
ชีวประวัติคอนสแตนติน ฟอลคอนช่างน่าติดตามประดุจนิยาย เย้ายวนชวนใคร่อ่านใคร่ค้นคว้า บทบาทของเขาโดดเด่นกว้างขวาง มีเรื่องราวปรากฏดาษดื่นตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งไทยเทศ ทั้งแง่มุมเชิงบวกเชิงลบขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้บันทึก ข้อที่เป็นปริศนาเร้นลับก็แยะ ในบรรดาข้อมูลสัพเพเหระ เรื่องหนึ่งซึ่งมิวายแว่วเสียงกระซิบกระซาบเรื่อยมาคงว่าด้วยประเด็นฟอลคอนหรือออกญาวิชาเยนทร์เป็นชายรักชายรึเปล่า? ร่องรอยสำคัญอันถูกหยิบยกมาสนับสนุนข้อสงสัยข้างต้นหนีไม่พ้นกรณีที่ชาวกรีกผู้นี้เคยดำรงสถานะเด็กรับใช้ส่วนตัวของกัปตันเรือชาวอังกฤษ หรือเรียกกันว่า ‘cabin boy’ เท่าที่เคยผ่านตาหนังสือหลายเล่ม พบผู้เขียนเรื่องฟอลคอนคนหนึ่งเคลือบแคลงจุดนี้ คือนายแพทย์วิบูล วิจิตรวาทการซึ่งแสดงความเห็นว่า “เจ้าพระยาวิชเยนทร์นี้ เมื่อท่านเริ่มชีวิตใหม่บนเรือสำเภาของกัปตันอังกฤษ หน้าที่อันหนึ่งของท่านก็คงจะเป็นเมียเด็กของกัปตันผู้นั้น ซึ่งในสมัยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะประเทศกรีซเองนิยมระบบร่วมเพศระหว่างชายอย่างเปิดเผย…”
นั่งๆ นอนๆ เอกเขนกคิดทบทวนหลายตลบทีเดียว มันจะเข้าข่ายเรื่องตุตะเอาเองหรือเปล่า อย่ากระนั้นเลย เสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมดีกว่า เมื่อลองค้นคว้าดูจากเอกสารหลายชิ้น เอ้อ มีส่วนเข้าเค้าเข้าทีเหมือนกัน กล่าวคือในศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 นักเดินเรือชาวอังกฤษนิยมเลี้ยงเด็กชายคอยติดตามรับใช้ส่วนตัว ทำงานประจำห้องพักกัปตัน เวลานอนก็นอนด้วยกัน เวลากินเด็กจะรับประทานเศษอาหารหลงเหลือในจานเจ้านาย และห้วงยามนักเดินเรืออารมณ์เปล่าเปลี่ยว ปรารถนาเสียวซ่านกามารมณ์ ภายหลังรอนแรมว้าเหว่กลางท้องทะเลยาวนานจนเหินห่างรสรักจากภรรยาบนชายฝั่ง เด็กชายยังปรนนิบัติรับใช้ทำหน้าที่เมียบนยานนาวาให้เจ้านายสมสู่ร่วมเพศ ขนาดพวกโจรสลัดอังกฤษในทะเลแคริบเบียนยังหนีบเด็กน้อยไว้ใช้สอยงานต่างๆ พร้อมช่วยบำบัดความใคร่ความกระสัน บ่อยครั้งที่เด็กๆ เหล่านี้ก่อชนวนขัดแย้งให้นายโจรทะเลาะเบาะแว้งหวุดหวิดปะฉะดะกันเอง พ่อแม่ของเด็กชายที่ยากจนข้นแค้นยินดียกลูกตนให้นักเดินเรือเปล่าๆ แบบไม่คิดมูลค่า มิหนำซ้ำ เปี่ยมล้นความหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อลูกชายโตเป็นหนุ่มแน่นอาจได้เลื่อนชั้นสู่ตำแหน่งกะลาสี
ลองพิจารณาชีวิตฟอลคอน เขาถูกยกให้เป็นเด็กรับใช้บนเรือกัปตันชาวอังกฤษตอนอายุประมาณ 10 ขวบ ทำงานตามคำสั่งสารพัด ท่องไปในผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาล จากหมู่เกาะในเขตกรีซสู่เกาะอังกฤษและข้ามฟากสู่หมู่เกาะอินเดียตะวันออกโดยยานนาวาแห่งบริษัทอีสต์อินเดีย จวบกระทั่งอายุ 30 ต้นๆ รั้งตำแหน่งผู้บังคับหมวดและผู้ช่วยยิงปืนใหญ่ประจำเรือรบ บังเอิญเสียด้วยว่าราวปีพุทธศักราช 2221 ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เรือรบลำนี้แล่นเข้ามาทอดสมอเทียบท่ากรุงศรีอยุธยา ฟอลคอนสบโอกาสสนทนากับหัวหน้าโรงสินค้าอังกฤษแห่งประเทศสยาม เขาชื่อริชาร์ด บาร์นาบี (Richard Barnaby) สองบุรุษพูดคุยถูกคอถูกชะตา รู้สึกรักใคร่กลมเกลียว บาร์นาบีจึงชวนหนุ่มชาวกรีกให้มาทำงานด้วยกันที่กรุงศรีฯ กัปตันเรือชาวอังกฤษเจ้านายเก่ามีหรือจะยินยอม บาร์นาบีประสานมือฟอลคอนวางแผนหลบหนีลงจากเรือไปแอบซ่อนตัวตราบจนเรือรบถอนสมออำลาปากแม่น้ำเจ้าพระยา การรู้จักบาร์นาบีส่งผลให้ฟอลคอนได้รู้จักกับจอร์จ ไวท์ (George White) ชาวอังกฤษอีกคนซึ่งครองบรรดาศักดิ์ ‘ออกหลวงวิชิตสาคร’ พวก ‘ฟะรังคี’ สามคนนี้ร่วมมือกันกระทำอะไรหลายอย่าง ถัดต่อมาโชคชะตาฟอลคอนพลิกผันให้ไปรู้จักขุนนางอยุธยาระดับสูงอย่างเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) จนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้รับราชการและกลายเป็นฝรั่งที่ทรงโปรดปรานที่สุด
ความจริงแล้วเหมือนจะเคยผ่านตาหลักฐานบางชิ้นที่บาทหลวงฝรั่งเศสพยายามชี้ชวนเชื่อมโยงทำนองว่าฟอลคอนเป็นผู้ทรงอำนาจวาสนาอยู่ได้ในกรุงศรีฯ ก็เพราะสัมพันธภาพลึกซึ้งต่อชายชาวสยาม แต่หลักฐานเรื่องแบบนี้ยังฟังดูไม่ค่อยหนักแน่นสมเหตุสมผลนัก
อีกเกร็ดข้อมูลหนึ่งซึ่งชวนให้ติดตามต่อ คือถ้อยคำเล่าลือกรณีเมื่อบาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด (Guy Tachard) หวนย้อนสู่สยามพร้อมคณะราชทูตจากฝรั่งเศสชุด 2 ในปีพุทธศักราช 2230 (คริสต์ศักราช 1687) ซึ่งคณะทูตสยามประกอบด้วยออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) ราชทูต ออกหลวงกัลยาณไมตรี อุปทูต และยังมีคุณพี่หมื่นเดชในละครซึ่งขณะนั้นเป็นตรีทูตรั้งตำแหน่ง ‘ออกขุนศรีวิสารวาจา’ ร่วมเดินทางกลับมาด้วย หลังจากไปเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คราวเดียวกันนี้เอง ตาชาร์ดได้นำเด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศสมากำนัลออกญาวิชาเยนทร์ด้วย พร้อมบรรทุกเครื่องดนตรีฝรั่งมาหลายชิ้น โดยเฉพาะฮาร์ปซิคอร์ดที่ตั้งใจเอามาฝากมารี กีมาร์ภรรยาฟอลคอน ก็เด็กหนุ่มจากปารีสนั่นล่ะต้องมาสอนเธอเล่น เขามาใช้ชีวิตที่กรุงศรีฯ ประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ดี อวลกลิ่นอายนัยยะแอบแฝงว่าเด็กชายวัย 14 อาจต้องมามีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับฟอลคอน ยังมีเล่ากันอีก ระหว่างอยู่บนเรือเลอ กัยยารด์ (le Gaillard) ตาชาร์ดกักขังเขาไว้แต่ในเคบิน ริบเงินติดตัว ไม่ยอมให้น้ำหรืออาหาร ลาลูแบร์ทนดูไม่ไหวจึงคอยแวะเวียนมาดูแล เด็กหนุ่มนักดนตรีชาวฝรั่งเศสคนที่ว่านี้ พอช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ได้กลายเป็นคีตกวีเลื่องชื่อ เขาคืออ็องเดร การ์ดินัล เดส์ตูชส์ (André Cardinal Destouches) ผู้ประพันธ์ผลงานเพลงประกอบบัลเล่ต์โอเปร่าชิ้นเอกอุอย่าง Les élémens … เกือบลืมเล่าไป พอสิ้นสุดสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ฟอลคอนถึงแก่ความตายแล้ว อ็องเดรถึงได้เดินทางกลับฝรั่งเศส ถ้าปราศจากการเสาะหาของ Dirk van der Cruysse อัตโนก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าเมอร์สิเออร์เดส์ตูส์เคยมาเยือนอโยธยา
ปฏิเสธมิได้ว่าเมียในสมรสอันรับรู้กันทั่วของออกญาวิชาเยนทร์คือมารี กีมาร์ แต่ความเจ้าชู้มากหญิงคลอเคลียของฟอลคอนก็ยากเกินระงับ เพิ่งแต่งงานหมาดใหม่เขายังแอบมีเมียลับๆ เป็นสาวชาวสยาม พอมารีรู้เข้าจึงร้องขอให้ส่งเมียน้อยไปอยู่เมืองสองแคว ถ้าเชื่อว่าเขาเป็นชายรักชายแล้ว ก็ต้องเชื่อด้วยว่าเขาเป็นเสือผู้หญิงตัวยง ทางด้านความสัมพันธ์เชิงเสน่หา ฟอลคอนหลงรักตองกีมาร์มากที่สุด มารีนะสิเธอรักตอบสามีชาวกรีกบ้างรึเปล่ามิค่อยชัดเจน บาทหลวงดอร์เลอองส์เล่าถึงตอนที่ฟอลคอนกำลังจะถูกประหารชีวิตภายหลังพระเพทราชาเข้าควบคุมเมืองละโว้ มารีซึ่งถูกขังในคอกม้ามิได้กล่าวอำลาอาลัย แต่กลับถ่มน้ำลายใส่หน้าสามี แต่ตามความรู้สึกผม สามีภรรยาคู่นี้ต่อให้ไม่น่าจะมาร่วมชีวิตกระทั่งมารักกันได้ แต่ก็ถือเป็นการลิขิตแห่งบุพเพสันนิวาส
การที่สมเด็จพระนารายณ์สวรรคตหมายถึงความรุ่งโรจน์ของออกญาวิชาเยนทร์ฉับพลันดับวูบลง ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2231 (คริสต์ศักราช 1688) ฟอลคอนถูกกองกำลังของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ซึ่งหมั่นไส้เกลียดชังเขามานานจับกุมตัวประหารชีวิตบริเวณวัดใกล้ๆ ทะเลชุบศร จุดจบลมหายใจของเขาน่าสงสารมาก เฝ้ารอชมว่าในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ จะถ่ายทอดออกมาเช่นไร หากอ่านจากบันทึกบาทหลวง เดอ แบสและบาทหลวงดอร์เลอองส์ขอรับรองความหดหู่สะเทือนอารมณ์ เดอ แบสบรรยายภาพอดีตขุนนางชาวกรีกถูกทรมานร่างกายต่างๆ นานา บีบขมับจนลูกตาถลนจากเบ้า ตอกเล็บและเอาไฟลนฝ่าเท้าพุพอง ส่วนดอร์เลอองส์เล่าถึงฟอลคอนว่า “แม้เขาจะต่อต้านอย่างถึงที่สุด เขาก็โดนตัดศีรษะในที่สุด ร่างของเขาถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน และกลบด้วยดินเพียงนิดเดียว ตกกลางคืนบรรดาสุนัขได้มาคุ้ยเขี่ยศพและกัดกินจนถึงกระดูก…”
มรณกรรมหาได้ทำให้เรื่องราวของฟอลคอนสิ้นสูญไปจากกรุงศรีอยุธยา ภรรยารวมถึงลูกชายเขากลับมามีบทบาทต่อราชสำนักอีกหนในสมัยพระเจ้าท้ายสระ มารีได้รับตำแหน่งท้าวทองกีบม้าควบคุมการทำอาหารหวานในครัวพร้อมๆ กับดูแลเครื่องทอง จอร์จคือคนโปรดปรานสำหรับขุนหลวง เขาสมรสกับลุยซา ปาสซานา (Louisa Passana) แต่กลับเสียชีวิตตั้งแต่อายุราวๆ 25 หรือ 26ปี ปาสซานาจึงแต่งงานใหม่กับเศรษฐีชาวไอร์แลนด์ และหากใครคิดว่ากรุงศรีอยุธยามีคอนสแตนติน ฟอลคอนเพียงแค่คนเดียว เข้าใจผิดเสียแล้วขอรับ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง พบนายคอนสแตนติน ฟอลคอนอีกคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่แพ้ฟอลคอนยุคสมเด็จพระนารายณ์ เพราะทั้งควบคุมดูแลสินค้าหลวงและบรรดาชาวคริสต์ในกรุงศรีอยุธยา ดูเหมือนจะได้รับตำแหน่ง ‘ราชมนตรี’ ด้วย เขาคือบุตรชายจอร์จ ฟอลคอนและลุยซา ปาสซานา (แต่ก็มีคนเข้าใจว่าคอนสแตนติน ฟอลคอนเป็นน้องชายจอร์จ) นับเป็นหลานปู่ออกญาวิชาเยนทร์ นายคอนสแตนตินผู้หลานยังได้ทำความดีความชอบด้วยการตามหามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสผู้สามารถประดิษฐ์ออร์แกนได้ พร้อมนำเครื่องดนตรีนี้ขึ้นถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นที่พอพระราชหฤทัยขุนหลวงยิ่ง
มิใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่ออเจ้าผู้อ่านทั้งหลายทราบดีถึงจุดจบในวาระสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา แม่นแล้วขอรับ เมื่อปีพุทธศักราช 2310 หรือคริสต์ศักราช 1767 กองทัพพม่าระดมไพร่พลบุกเข้าโจมตีราชธานีล่มสลายพ่ายพัง มิหนำซ้ำ กวาดต้อนชาวเมืองมากมายไปสู่กรุงอังวะในฐานะเชลยศึก เอ๊ะ เล่าเรื่องฟอลคอนดีๆ ทำไมผลุบผลับมาออกกรุงแตกครั้งที่ 2 ล่ะเนี่ย โปรดเบิกตาโตลุกวาว เพราะอัตโนกำลังจะบอกว่าทายาททางสายเลือดออกญาวิชาเยนทร์ได้ตกเป็นเชลยศึกในกองทัพพม่าด้วยเช่นกัน นั่นคือแม่สาวรุ่นหลานของเขา พร้อมชายอีกคนหนึ่งชื่อจอห์น ฟอลคอน (John Phaulkon) ขอบคุณ E. W. Hutchinson ที่เขียนข้อมูลนี้ไว้ใน Adventure in Siam in the Seventeenth Century
เมาท์ๆ โม้ๆ เสียยืดยาว อัตโนมิได้จะมาฟันธงนี่ขอรับว่าออกญาวิชาเยนทร์หรือฟอลคอนเป็นชายรักชายหรือไม่ เพียงแค่พยายามฉายไฟให้ปวงออเจ้าเล็งเห็นความมีอยู่ของประเด็นนี้ จงอย่าเชื่อทันทีเลย จนกว่าจะไปค้นคว้าข้อมูลใหม่มาพิเคราะห์ แหม เขียนเล่าจนเหนื่อย ชักจะหิวน้ำลายไหลแล้ว ต้องโทรศัพท์สั่งหมูกระทะรสมือแม่การะเกดแบบเดลิเวอรี่ข้ามยุคสมัยแพบ!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ตาชาร์ด, กีย์. จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาดหลวงตาชาร์ด ค.ศ. 1687-1688. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. กรุงเทพฯ : ศิลปากร, 2519
- แชรแวส นิโกลาส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร.นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550
- เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรขน์. “ความหลากหลายของวัฒนธรรมการกินสมัยอยุธยา” ใน วรสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์ 23. ฉ.1 (มกราคม-เมษายน 2560). หน้า 67-89
- บาทหลวง ดอร์เลอองส์. “คอนสแตนติน ฟอลคอน (History of Constance Phaulcon)” แปลโดยนันทนา ตันติเวสส ใน รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535. น. 57-95
- บาทหลวง เดอะ แบส. บันทึกความทรงจำของ บาทหลวงเดอะแบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550
- ลาลูแบร์, มร. เดอ. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557
- วิบูล วิจิตรวาทการ. แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด, 2544
- วิบูล วิจิตรวาทการ. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง. กรุงเทพฯ : บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด, 2544
- มุหัมมัด ราบิอิบนิ มุหัมมัด อิบรอฮีม. บันทึกของคณะราชทูตเปอร์เชียเข้ามากรุงศรีอยุธยา สำเภากษัตริย์สุลัยมาน. แปลโดย ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ : มติชน, 2545
- Burg, B. R. Sodomy and the Pirate Tradition: English Sea Rovers in the Seventeenth-Century Caribbean. 2nd ed. New York: New York University Press, 1995
- Cruysse, Dirk van der. Siam and the west 1500-1700. Translated by Michael Smithies. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books, 2002
- Sitsayamkan (Sit Hoontrakul), Luang. The Greek Favourite of the King of Siam. Singapore: Donald Moore Press, 1967
- Hutchinson, E. W. Adventurers in Siam in the Seventeenth Century. 2nd ed. Bangkok, Thailand: DD Books, 1985
- Hutchinson, E. W. 1688 Revolution in Siam. Hong Kong: Hong Kong University Press, 1968
- Turley, Hans. Rum, Sodomy, and the Lash: Piracy, Sexuality, and Masculine Identity. New York and London: New York University Press, 1999.