สำหรับอาเบะ ชินโซ (Abe Shinzō) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบันแล้ว ปี ค.ศ.2020 น่าจะเป็นปีที่แช่มชื่นที่สุดสำหรับเขา หลังจากเอาชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2017 และชนะการเลือกหัวหน้าพรรคในปี ค.ศ.2018 กลายมาเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุด และมีผลงานที่เลื่องชื่อว่า Abenomics (อาเบะโนมิกส์) ที่เป้าหมายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วยลูกศรสามดอก ซึ่งที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดคงเป็นการเปิดประเทศเน้นการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ใครอ่านงานของผมก็คงจะได้ผ่านตาบ่อยๆ แถมยังปิดท้ายด้วยงานใหญ่นั่นคือ โตเกียวโอลิมปิก ที่จะทำเป็นผลงานที่ทำให้คนจดจำเมื่อเขาลงจากตำแหน่ง จะเรียกว่า legacy ของเขาก็ว่าได้ ขนาดช่วงที่ผ่านมายังมีข่าวฉาวค้างคาเรื่องคดีที่ดินโรงเรียนโมริโทโมะ ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเขาเลย
แต่ขณะที่เขากำลังมีความสุขรอล้างมือในอ่างทองคำแบบชิลๆ จู่ๆ เงาดำก็คืบคลานมาจากด้านหลัง กลายเป็นการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว เล่นเอาอาเบะเป๋ และน่าจะมีผลต่อชีวิตนักการเมืองของเขาไม่น้อยเลยล่ะครับ เจ้าเงาดำที่ว่าก็คือ COVID-19 นั่นเอง
ก่อนอื่นก็คงต้องขอออกตัวว่า ผมเองก็เขียนเกี่ยวกับหรือพาดพิง อาเบะ ชินโซ อยู่บ่อยๆ เพราะก็เป็นนายกฯ ในช่วงที่ผมเริ่มงานเขียนกับที่นี่ แต่ในความเห็นของผมจริงๆ แล้ว ก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานขนาดนี้ เพราะตอนที่เขาขึ้นมารับตำแหน่งครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นผมก็เห็นเขาเป็นคนที่ถูก ‘ปั้น’ หรือ groom ให้มารับไม้ต่อจากโคอิซุมิ จุนอิจิโร่ (Ko’izumi Jun’ichirō) ขวัญใจประชาชนที่ลงจากตำแหน่งเมื่อครบ 5 ปีตามสัญญา
แต่หลังจากนั้นก็รู้สึกเหมือนว่าเขาถูกปั้นมามากเกินไปจนไม่มีประสบการณ์พอ พอเจอของจริงและมีข่าวฉาว ก็เข้าโรงพยาบาลและขอลาออกจากตำแหน่งโดยบอกว่าเพื่อรักษาสุขภาพ ก็ไม่นึกว่าจะกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเก้าอี้ดนตรีของพรรค LDP (พรรคเสรีประชาธิปไตย) ได้อีก เพราะคิดว่าน่าจะหลุดจากวงโคจรไปแล้ว แต่เหมือนกับว่าเขาได้บทเรียนจากครั้งก่อนแล้ว และการกลับมาครั้งนี้ก็มาแบบแกร่งกว่าเดิม สมกับมาจากครอบครัวนักการเมือง และก็สร้างผลงานต่างๆ นาๆ แม้จะมีข้อครหาอยู่ แต่ก็ผ่านมาได้อย่างมั่นคง จนมีภัยที่มองไม่เห็นโผล่มานี่ล่ะครับ
จริงๆ แล้วปัญหานี้ก็เป็นปัญหาระดับโลกนั่นล่ะ
แต่ก็แล้วแต่ว่ารัฐบาลไหน
จะจัดการแบบไหน ป้องกันอย่างไร
มันก็ทำให้เห็นถึงความแตกต่างได้ชัด ผมเองก็ชมตอนที่รัฐบาลตัดสินใจรีบไปรับคนญี่ปุ่นกลับจากอู๋ฮั่นโดยมีการเตรียมพร้อมในการจัดการกัดตัวเป็นอย่างดี ถือเป็นการจัดการปัญญาที่ดี พร้อมทั้งการแจ้งข้อมูลต่างๆ โดยตลอด (อ่านบทความเกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 ในญี่ปุ่นได้ที่นี่)
แต่พอปัญหามันเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าการตัดสินใจของอาเบะหลายต่อหลายอย่าง ช้าเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจไม่รับนักท่องเที่ยวจากจีน หรือการจัดการในการลดความเสี่ยงของการกระจายของไวรัส รวมไปถึงการสั่งการให้กิจการต่างๆ ให้ความร่วมมือในการพักกิจการเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่รัฐเองก็ไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งปิดเมืองได้ แน่นอนว่าเมืองขนาดยักษ์แบบโตเกียว ถ้าจัดการสั่งปิดเมืองจริงๆ ผลกระทบก็จะหนักหนาสาหัสมากๆ แต่กว่าจะตัดสินใจทำอะไรแต่ละก้าวก็ดูเหมือนจะช้าไปและไม่เด็ดขาดอยู่เสมอ (แต่ก็ต้องให้เครดิตในการออกมาแถลงข่าวแต่ละครั้งที่จัดว่าโอเค รวมถึงการตอบนักข่าวสดออกทีวี แม้จะโดนจี้ประเด็นหนักๆ ก็คุมอาการได้) หลายครั้งก็ดูเหมือนจะพึ่ง สามัญสำนึก ของประชาชนมากเกินไป ซึ่งก็จริงอยู่ที่นิสัยรักสะอาดของชาวญี่ปุ่นมีส่วนช่วยให้ไวรัสไม่ได้กระจายหนักกว่าที่ควรเป็น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความหนาแน่นของประชากรในโตเกียว
แค่การจัดการปัญหาหรือเตือนประชาชนว่าช้าแล้ว ภาพตรงนี้ก็ยิ่งถูกย้ำหนักขึ้นเมื่อ ยูริโกะ โคอิเคะ (Yuriko Koike) ผู้ว่ากรุงโตเกียว ที่เป็นนักการเมืองคู่แข่งของอาเบะโดยตรง ที่โชว์ความเด็ดขาดในการพยายามจัดการปัญหาในกรุงโตเกียว รวมไปถึงการจี้ประเด็นปัญหาต่างๆ ต่อรัฐบาล เรียกได้ว่าเป็นการฟาดฟันกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น ที่รัฐบาลท้องถิ่นดูเหมือนจะทำได้เด่นกว่า ยังไม่รับการแถลงรายงานสถานการณ์ของผู้ว่า ที่ออกมาแถลงเป็นภาษาอังกฤษด้วยตัวเองอีกด้วย เล่นเอาดูโดดเด่นขึ้นมาทันที ยังมีคะแนนเล็กๆ น้อยๆ จากหน้ากากผ้าของเธอที่แต่ละวันก็มีลายเก๋ไก๋ เป็นที่ถูกใจของชาวเมือง
ส่วนปัญหาหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน อาเบะก็เสนอว่าจะให้หน้ากากอนามัยผ้าแบบใช้ซ้ำได้ ครัวเรือนละสองชิ้น ก็กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาของชาวญี่ปุ่นไป เพราะถ้าบ้านไหนมีคนเกินสองคนจะทำอย่างไร ทำให้มีมุกตลกล้อเลียนกลายเป็น meme ดังในสังคมญี่ปุ่น ได้ชื่อเรียกว่า Abe no Mask (หน้ากากของอาเบะ) ล้อเลียน Abenomics ไปในทันที แต่เมื่อมีรายงานงบประมาณที่ใช้ไปกับหน้ากากแล้ว จากฮาก็กลายเป็นเดือด เพราะงบประมาณสูงจนสื่อต้องไปจี้บริษัทผลิตว่าสมราคาไหม และพอคนได้รับแจกจากการส่งไปรษณีย์ตามบ้าน (ผมยังไม่ได้นะครับ ออกตัวก่อน) ก็มีรายงานว่ามีสินค้าชำรุดถึง 1,900 กรณี แถมขนาดก็เล็กเหมือนหน้ากากอนามัยที่เด็กประถมใส่ตอนทำหน้าที่ตักอาหารเที่ยงให้เพื่อน เพื่อนอเมริกันจมูดโด่งของผมลองแล้ว ก็พบว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะอากาศเข้าด้านข้างได้เต็มๆ กลายเป็นการตั้งคำถามว่านี่คือการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำรึเปล่า
อีกเรื่องที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่างกับโคอิเคะก็คือ การใช้สื่อโซเชียลและพยายามเจาะกลุ่มคนวัยรุ่น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาว่าหลายต่อหลายคนยังไม่รู้สึกถึงอันตรายของไวรัสหรือคิดว่ายังหนุ่มสาวเลยจะไม่ได้รับผลกระทบ โคอิเคะก็อาศัย Hikakin ยูทูปเบอร์ ชื่อดังที่สุดของญี่ปุ่น ให้ออกมาร่วมแถลงและกระตุ้นให้วัยรุ่นรู้จักอยู่บ้านบ้าง และก็ใช้กลุ่มยูทูปเบอร์ชื่อดังช่วยโปรโมททางทีวีต่อ ในขณะเดียวกัน เก็น โฮชิโนะ (Gen Hoshino) นักร้องนักแสดงหนุ่มชื่อดัง ออกมาร้องเพลง ‘อยู่บ้านกันเถอะ’ ที่เขาแต่งเองทางอินสตาแกรม เพื่อให้คนอยู่บ้านเพื่อความปลอดภัย แล้วก็มีคนเอาไปเต้นตามแบบประกบจอตามสไตล์ TikTok เป็นดูเอ็ต ซึ่งอาเบะก็เกาะกระแสนี้ด้วยการประกบคลิปของตัวเองทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ในบ้านเช่น เล่นกับแมว หรือนั่งจิบชา ก็เป็นที่ฮือฮา เพราะตัวเก็นเองก็บอกว่า ไม่รู้มาก่อนว่านายกฯ จะเอาไปร่วมแจมด้วย และกลายเป็นเหมือนเอาน้ำมันไปสาดไฟ เพราะชาวบ้านก็ไม่พอใจว่า ชาวบ้านลำบากทั้งกลัวติดโรค คนต้องทำงานในบ้านแคบๆ บางคนก็ไม่มีงาน นายกฯ ยังจะมาอัพคลิปโชว์ชีวิตตัวเองชิลๆ ในบ้านอยู่เหรอ เอาเวลาไปทำงานแก้ปัญหาซะไป๊ เรียกได้ว่า ไม่ทันคิดว่าชาวบ้านเขาจะรู้สึกอย่างไรนั่นล่ะ
การเกาะกระแสแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ
ก็กลายเป็นลงเหวอย่างแท้จริง
อีกเรื่องที่เป็นที่วิจารณ์กันอย่างมาก็คือ เรื่องเงินช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ยากลำบากแบบนี้ ซึ่งกว่าจะออกไอเดียนี้ก็จัดว่าช้าแล้ว และทีแรกก็บอกว่าจะให้ครัวเรือนละ 300,000 เยน โดยมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่ ‘หัวหน้าครอบครัว’ มีรายรับลดลงเกินครึ่ง ก็กลายเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะบางครอบครัวก็ทำงานทั้งสามีภรรยา แต่ภรรยาถูกลดเงินเดือน หรือออกจากงานคนเดียวก็ไม่ได้รับ ซึ่งก็วุ่นวายเรื่องรายละเอียดการแจก จนมีรายงานว่า ฝ่ายที่ทำให้เปลี่ยนการแจกจาก 300,000 เยนต่อครัวเรือนที่มีปัญหา กลายมาเป็นคนละ 100,000 เยนอย่างเท่าเทียม ก็คือ พรรคโคเมโท พรรคร่วมรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโซคะกัคไค หนึ่งในกลุ่มศาสนาพุทธนิกายนิจิเร็น ซึ่งที่ผ่านมาก็คือ ขอให้ได้อยู่พรรครัฐบาลก็พอ แต่รอบนี้เหมือนจะไม่พอใจเพราะว่าฐานเสียงของพรรคก็โจมตีนโยบายนี้หนัก จนตัวแทนพรรคต้องเข้ากดดันอาเบะโดยตรง ปกติพรรคร่วมไม่ค่อยกล้าหือกับ LDP เท่าไหร่หรอกครับ เพราะคะแนนเสียงต่างกันมาก แต่พอเห็นแบบนี้แล้วก็ต้องบอกว่า อำนาจของอาเบะดูเหมือนจะหดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ขนาดพรรคร่วมจี้จนเปลี่ยนนโยบายได้
แค่ปัญหาทางการเมืองก็หนักแล้ว ยังมีภัยหลังบ้านอีก นั่นก็คือ ภรรยาตัวเอง นั่นล่ะครับ ในช่วงที่มีการระบาดของโรค และรัฐของความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ตัวภรรยานายก สตรีหมายเลขหนึ่ง กลับไปชมดอกซากุระตอนกลางคืนกับเพื่อนคนดังเป็นกลุ่ม แล้วถ่ายรูปอัพขึ้นโซเชียลหน้าตาเฉย ต่อให้บอกว่าเป็นร้านเปิดโล่งนอกสถานที่ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ เพราะถ่ายรูปกันอย่างชิดมาก ดอกเดียวไม่พอ ยังมีดอกสองอีก เมื่อมีการประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่ในบ้าน วันต่อมาสตรีหมายเลขหนึ่งก็เดินทางไปเที่ยวจังหวัดโออิตะในเกาะคิวชู พร้อมกับทีมงานมิตรสหายรวม 50 คน เจอแบบนี้คนก็ยิ่งเดือดจนได้ยินเสียงวิจารณ์ว่า ขนาดภรรยาตัวเองยังขอความร่วมมือไม่ได้เลยเหรอ เรียกได้ว่านอกบ้านก็หนักแล้ว ในบ้านยังช่วยขุดหลุมฝังกันต่ออีก
สำหรับนักการเมือง โดยเฉพาะในตำแหน่งสำคัญ ก็มักจะมีภาพจำว่าคนๆ นั้นเคยทำอะไรไว้ เป็น legacy ที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนที่มีต่อคนๆ นั้น สำหรับอาเบะแล้ว จากที่เขาคงจะคิดว่าจะทิ้ง Abenomics และโอลิมปิกที่โตเกียวซึ่งจะจุดประกายให้ญี่ปุ่นกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง แต่ดูจากสถานการณ์ตอนนี้แล้ว อาจจะกลายเป็นหน้ากากอนามัยสีขาวขนาดเล็ก Abe no Mask ที่น่าจะอยู่ในความทรงจำของผู้คนยุคที่เสพ meme กันอย่างสนุกสนานแทนก็ได้