คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของเกม Red Dead Redemption 2
นับวัน ดูเหมือนเหตุการณ์บ้านเมืองจะยิ่งทำให้คนไทยตั้งคำถามกันดังขึ้นเรื่อยๆ ถึง ‘ระบบยุติธรรม’ ในประเทศ ว่ายังตรงตามหลัก ‘นิติรัฐ’ อยู่ไหม สามารถอำนวยความยุติธรรมได้จริงไหม หรือกำลังแสดงอาการ ‘นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน’ (hyper-legalism) ดังที่ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าหมายถึงภาวะ “มีกฎหมายแต่ไม่สนเจตนารมณ์ในการใช้กฎหมาย …สังเกตดูง่ายๆว่า จะทำอะไรก็อ้างกฎหมายเต็มไปหมด แต่ไม่เกิดความยุติธรรม ความเป็นธรรม ขึ้นมาเสียที”
ผู้เขียนเคยเขียนถึงลักษณะของ ‘กฎหมายที่ดี’ ไปแล้วตอนที่เขียนถึงเกม Baba is You และก่อนหน้านี้ก็เขียนถึงเรื่องการค้นหาแรงจูงใจของการ ‘ทำเลว’ ซึ่งสำคัญกว่าการตราหน้า ‘คนเลว’ ในบทความ แรงจูงใจ การทุจริต และความรับผิด กับ L.A. Noire
Red Dead Redemption 2 เกมที่สนุกที่สุดในความเห็นของผู้เขียนจาก Rockstar Games สตูดิโอชื่อดังเบื้องหลังซีรีส์ GTA, Max Payne และ L.A. Noire ยกระดับความซับซ้อนของการแปะป้ายเลว/ดี ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการฉุกให้คิดถึงความแตกต่างระหว่าง ‘กฎหมาย’ กับ ‘ความยุติธรรม’ ผ่านการถ่ายทอดยุคเปลี่ยนผ่านของดินแดนคาวบอย หรือ Wild West ในอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หลังจบสงครามกลางเมืองไม่กี่สิบปี จากยุคบ้านป่าเมืองเถื่อนที่กฎหมายของรัฐบาลกลางยังเข้าไปไม่ถึง สู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเต็มสูบ รถม้าถูกแทนที่ด้วยรถไฟและรถราง ไร่นาเรือกสวนและฟาร์มปศุสัตว์ถูกแทนที่ด้วยโรงงานปล่อยควันดำมืดมิด คนผิวดำถูกปลดปล่อยจากการเป็นทาสแต่การเหยียดผิวยังพบเห็นได้ทั่วไป ชนพื้นเมืองอินเดียนแดงถูกต้อนออกจากที่ดินศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษเพื่อเปิดทางให้กับอารยธรรมและการค้าพาณิชย์ของคนผิวขาว
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ วัฒนธรรมในทุ่งกว้างตะวันตกก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากความกลัวตายด้วยน้ำมือสัตว์ป่า ภัยธรรมชาติ หรือคนเถื่อนอย่างเช่นก๊วนของเราในเกม มาเป็นความกลัวอำนาจทางกฎหมายของรัฐบาลกลางซึ่งเข้ามายุ่มย่ามและตีกรอบจำกัดชีวิตของปัจเจกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Red Dead Redemption 2 (RDR2) เป็นภาคต่อแต่เล่าเรื่องที่เกิดก่อนเกมแรกในซีรีส์นี้ เราเล่นเป็น อาร์เธอร์ มอร์แกน คาวบอยกร้านโลก ขบถสังคม สมาชิกแก๊งนอกกฎหมายที่นำโดย ดัชท์ แวน เดอร์ ลินด์ ผู้ฝันใฝ่ถึงการสร้างชุมชนเล็กๆ ที่อบอุ่นและแสนอิสระเสรีนอกเงื้อมมือของกฎหมาย แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่า ‘โลกเก่า’ ของพวกเขากำลังจะเข้าสู่จุดจบ และ ‘โลกใหม่’ ที่กำลังอุบัติขึ้นนั้นก็ไม่ต้องการคนเถื่อนอย่างพวกเขาอีกต่อไป
โลกกว้างใน RDR2 สวยงามตระการตา เต็มไปด้วยรายละเอียดสมจริงมากมายที่ rockstar ออกแบบระบบเกมน้อยใหญ่มาใช้ประโยชน์สูงสุด ผลลัพธ์คือเกมโลกเปิด (open world) ชั้นยอดที่เราสามารถหมดเวลาหลายสิบชั่วโมงไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการขับเคลื่อนเส้นเรื่องใหญ่ในเกมไปข้างหน้า แถมเส้นเรื่องนั้นก็เล่าอย่างแช่มช้าเหมือนการบ่มวิสกี้ชั้นดี ยิ่งทำให้เรามีแรงจูงใจที่จะสำรวจโลก ควบม้าคู่ใจไปตกปลา ล่าสัตว์ (คุณภาพของหนังสัตว์ที่ได้ขึ้นอยู่กับอาวุธที่ใช้ และความสามารถของเราว่ายิงโดนจุดตายทันทีหรือเปล่า) ควานหากระดูกไดโนเสาร์ เล่นพนันไพ่ป๊อก เล่นพนันโดมิโน
แน่นอน สิ่งที่เราเลือกทำได้ทุกเมื่อในเกมนี้รวมถึงกิจกรรมนอกกฎหมายต่างๆ นานาที่จะจุดชนวนให้ตำรวจออกไล่ล่าและประกาศค่าหัว ตั้งแต่การปล้นจี้ชาวบ้านตาดำๆ ไปถึงคดีอุกฉกรรจ์อย่างปล้นธนาคาร ปล้นรถม้าขนเงิน หรือปล้นรถไฟ
โลกของ RDR2 ละเอียดสมจริงและชวนหลงใหลเสียจน ‘การผจญภัย’ หลายครั้งของเราจะเกิดอย่างไม่คาดฝันและไม่มีใครออกแบบไว้ล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น วันหนึ่งระหว่างควบม้าคู่หูกลับค่าย ผู้เขียนเจอแก๊งโฉดเลอมอยน์กำลังปล้นรถไฟ สั่งให้ผู้โดยสารออกมานอนคว่ำหน้าอยู่กับพื้น แกว่งปืนข่มขู่ไปมา ดูท่าทางกร่างมาก ด้วยความหมั่นไส้เลยควงปืนวิ่งขึ้นรถไฟไปจัดการจนหมดแก๊ง (แก๊งอื่นจะมาปล้นรถไฟตัดหน้าเราได้ยังไง!) แต่โชคร้าย รถไฟยังตะบึงไปข้างหน้าเต็มเหยียด ด้วยความรู้สึกสนุกเลยปีนขึ้นหลังคาไปชมทิวทัศน์ คว้าไรเฟิลออกมายิงนกระหว่างทาง กลับลงมาสั่นกระดิ่งรถไฟเล่นในห้องคนขับ เฝ้ามองเทือกเขาตระหง่าน ทะเลสาบใสแจ๋ว และทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตาแปรเปลี่ยนเป็นหนองน้ำจระเข้ชุก แท่นขุดน้ำมันใหม่หมาด และโรงงานขนาดใหญ่เมื่อรถไฟแล่นเข้าใกล้เมือง นานๆ ทีก็กระโดดลงจากรถไฟไปทักทายผู้คน หาจังหวะกระโดดกลับขึ้นมาใหม่เมื่อไรก็ได้
โลกเปิดของ RDR2 น่าหลงใหลจนเชื้อเชิญให้เราเล่นอย่างเป็นอิสระเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวว่าพลาดเส้นเรื่องหลักในเกม เพราะภารกิจต่างๆ หยุดรอเราเสมอ นอกจากกราฟิกจะสวยงามมากแล้ว โมเดลสภาพอากาศและการเปลี่ยนผ่านระหว่างกลางวันและกลางคืนในเกมนี้ยังเจ๋งที่สุดเท่าที่เคยเห็น ยามพายุมาฟ้าร้อง ต้นไม้ล้วนลู่ไหวจนน่ากลัวจะหักโค่นระหว่างที่ม้าวิ่งผ่าน (และม้าคู่ใจก็จะตกใจกับเสียงฟ้าร้องจนสลัดเราหลุดจากอาน) หลังฝนตกนกก็ร้องเพลง หยดน้ำฝนตกติ๋งๆ จากหลังคากระท่อม โค้งรุ้งกินน้ำพาดผ่านทุ่งนา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเกมนี้ถึงมีฟังก์ชั่น ‘โหมดภาพยนตร์’ (cinematic mode) เปลี่ยนมุมกล้องเป็นมุมกว้าง ราวกับกำลังดูภาพยนตร์คาวบอยดีๆ สักเรื่อง
ระบบเกมทั้งหมดใน RDR2 ล้วนถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบและใช้ง่าย ไม่ว่าจะใช้คอนโทรลเลอร์หรือเมาส์กับคีย์บอร์ด แต่การออกแบบบางจุดก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน โดยเฉพาะการใช้ปุ่มเดียวกันสำหรับการ ‘เล็ง’ เพื่อคุยกับคน และ ‘ยิง’ ถ้าชักปืนออกมาแล้ว ส่งผลให้ผู้เขียนต้องกลายเป็นฆาตกรอย่างไม่ตั้งใจหลายครั้ง เพราะดันลืมตัวว่าถือปืนอยู่ระหว่างที่กดปุ่ม ‘เล็ง’ บทสนทนาฉันมิตรเลยไม่ได้เกิดเพราะคู่สนทนากลายเป็นศพ ต้องซมซานกบดานหลบหนีตำรวจ โชคดีที่เราสามารถไปจ่ายค่าหัวตัวเองที่ไปรษณีย์ได้ทุกสถานีรถไฟ ใช้เงินฟาดให้ตำรวจเลิกออกหมายจับ
อิสระเสรีที่เรามีในเกมนับว่าคัดง้างอย่างดีกับความรู้สึกของอาร์เธอร์ ดัทช์ และเพื่อนร่วมแก๊งทุกคนว่า ชีวิตอิสระของพวกเขากำลังจะหมดอายุขัย เพราะ ‘โลกใหม่’ ไม่ยอมรับวิถีชีวิตของคนเถื่อนอีกต่อไป ตั้งแต่ฉากเปิดของเกมนี้ แก๊งเราก็รอนแรมแล้วเมื่องานปล้นใหญ่ในเมืองแบล็กวอเตอร์ไม่เป็นไปตามแผน สมาชิกแก๊งบางคนตายฟรี คนที่เหลืออพยพหนีตายไปตั้งหลักทางทิศตะวันออก ค่อยๆ วางแผนอาชญากรรมครั้งต่อไปอย่างรอบคอบเพราะไม่อยากให้ตำรวจระแคะระคาย แต่นานวันยิ่งถลำลึกและผิดแผนไปไกล งานที่ควรเป็นงานเงียบๆ อย่างเช่นการเสี้ยมตระกูลเก่าแก่สองตระกูลให้ทำสงครามกันกลับกลายเป็นว่าเราต้องทำศึกกับทั้งคู่ ทรัพย์สมบัติของแก๊ง – สำหรับการ ‘เริ่มต้นชีวิตใหม่ทางฝั่งตะวันตก’ พอกพูนขึ้นจริงแต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงมหาศาลและซากศพโจรแก๊งอื่นและผู้บริสุทธิ์อีกบานตะไท
ตลอดเรื่องราวฉาวโฉ่ อาการผิดแผนหรือถูกตลบหลังทั้งหลาย อาร์เธอร์ซึ่งก็คือตัวเรายังรักษาความจงรักภักดีต่อดัทช์ หัวหน้าแก๊ง อย่างน่าทึ่งเสมอต้นเสมอปลาย จากบทสนทนาระหว่างเรากับเพื่อนร่วมแก๊งคนอื่นๆ ในค่าย ชัดเจนว่าอาร์เธอร์ ‘ทำใจ’ ไว้แล้วว่าวิถีชีวิตของเขาและคนอย่างเขาในประวัติศาสตร์กำลังจะหายไป เมื่อแดนเถื่อนของอเมริกากำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ยุคแห่งอุตสาหกรรมและหลักนิติรัฐของรัฐบาลกลาง ในเกมนี้เราเลือกได้ว่าจะเป็นคาวบอยแบบไหน จะเป็นโรบินฮู้ดหรือ ‘โจรรักศักดิ์ศรี’ ที่ปล้นฆ่าแต่คนเลวด้วยกัน เลือกวิธีเงียบเชียบย่องเบาที่หลีกเลี่ยงความรุนแรงในการทำภารกิจ หรือจะเป็นโจรที่เลวทุกกระเบียดนิ้วเพราะฆ่าคนไม่เลือกหน้า หาเรื่องควงปืนและดวลปืนกับคนเพียงเพราะไม่ขี่ม้าหลบเรา
สถานการณ์ของแก๊งจะบีบคั้นเขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง ‘จุดจบ’ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายอีกต่อไป ไม่ว่าเส้นเรื่องจะมีจุดพลิกและเซอร์ไพรส์ขนาดไหนก็ตาม เมื่อ ‘ความก้าวหน้า’ ของอารยธรรมคืบคลานมายังตะวันตก วิถีชีวิตแบบอิสรนิยมสุดขั้ว (libertarian) ปรัชญาที่ชิงชังการจุ้นจ้านของรัฐบาล ดังสะท้อนผ่าน ดัทช์ หัวหน้าแก๊ง ผู้ไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นอาชญากรหรือคนเถื่อนนอกกฎหมายผู้น่ารังเกียจ หากเขามองว่าตัวเองเป็น ‘นักฝัน’ ผู้อยากปฏิรูปโลกนี้ให้เป็นสังคมที่ดีกว่าเดิมและมีน้ำใจมากกว่าเดิม และเป็น ‘นักรบ’ ผู้ต่อสู้เพื่อปากท้องของครอบครัวซึ่งก็คือสมาชิกแก๊งทุกคน และต่อสู้เพื่ออนุรักษ์วิถีแห่งเสรีชนซึ่งกำลังจะถูกวิถีใหม่แห่งทุนนิยมอุตสาหกรรมกลืนกิน
RDR2 ฉายภาพความ ‘ก้าวหน้าทางจิตใจ’ ของแก๊งดัทช์ราวกับจะคัดง้างกับความ ‘ก้าวหน้าทางวัตถุ’ ของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมยุคบุกเบิก แก๊งนี้มีสมาชิกที่หลากหลายอย่างน่าทึ่ง ทั้งคนผิวดำ เม็กซิกัน อินเดียนแดง และคนหลากสีผิวที่เป็นลูกครึ่งหลายชาติพันธุ์ ภารกิจหรือเหตุร้ายหลายครั้งในเกมเกิดจากการที่สมาชิกถูกคนอื่นในสังคมเหยียดผิวหรือหยามศักดิ์ศรี แล้วดัทช์หรือตัวเราทนไม่ได้ต้องออกโรงปกป้อง นอกจากนี้ ผู้หญิงในแก๊งก็ล้วนแต่ไม่ใช่ ‘แม่บ้าน’ ผู้สงบเสงี่ยมเจียมตัวตามแบบฉบับกระแสหลักของผู้หญิงในสมัยนั้น (นั่นคือสมัยที่ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่เราจะได้พบปะพูดคุยและช่วยเหลือนักรณรงค์สิทธิสตรีรุ่นแรกในเกม)
นับวัน สมาชิกแก๊งของเรายิ่งร่อยหรอ ศัตรูยิ่งเพิ่มพูน และอำนาจทางการของกฎหมายยิ่งคุกคามเข้าใกล้ แต่แทนที่จะหมดอาลัยตายอยากและยอมมอบตัว สมาชิกแก๊งทุกคนกลับยืนหยัดอยู่เคียงข้างผู้นำอิสรนิยมของพวกเขา ยังเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ที่ว่าวันหนึ่งจะมี ‘ชีวิตใหม่’ เยี่ยงเสรีชน ทำมาหากินบนผืนดินด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่ต้องออกปล้นหรือจารกรรมอีกต่อไป
ยิ่งดัทช์มองเห็นความจริงที่ว่า ภาพ ‘ยูโทเปียเถื่อน’ ที่เขาวาดฝันไม่น่าจะเกิดเป็นความจริงได้เลย พฤติกรรมและแผนการของเขาก็ยิ่งออกนอกลู่นอกทาง เอียงข้างความรุนแรงและสิ้นหวังราวสุนัขจนตรอก ถึงจุดหนึ่งเราก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม – ที่คนอื่นนอกแก๊งถามมานานแล้วว่า – ตกลงแก๊งของเรา ‘ดีกว่า’ อาชญากรทั่วไปตรงไหนกัน
‘คุณธรรม’ ใน RDR2 เป็นเรื่องสัมพัทธ์ไม่ใช่สัมบูรณ์ มันคือสิ่งที่เราบอกกับตัวเอง พยายามอธิบายเพื่อสงบมโนธรรมสำนึก สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเอง เช่น แก๊งเราไปปล้นคนรวยโลภมากที่ขูดเลือดขูดเนื้อแรงงานในไร่ หรือไปขโมยจากแก๊งอื่นที่ขโมยคนอื่นมาอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ต้องรู้สึกผิดอะไรหรอก แถมเราหรืออาร์เธอร์ในเกมนี้ก็ช่วยชาวเมืองได้หลากหลายวิธีเพื่อเพิ่มค่า ‘เกียรติ’ (honor) ของเราได้จริงๆ ตั้งแต่การบริจาคเงินให้กับขอทาน ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกสามีทุบตี ช่วยจับโจรมาเรียกค่าหัวจากนายอำเภอ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งค่าเกียรติของเรายิ่งสูง เรายิ่งได้ประโยชน์ เช่น ได้ส่วนลดเวลาไปซื้ออาวุธ เสื้อผ้า อาหาร หรืออุปกรณ์อื่น
อย่างไรก็ตาม คุณธรรมเชิงสัมพัทธ์และการหาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองแบบนี้ นานวันยิ่งฟังเหมือนกับการหลอกตัวเอง เพราะไม่ช้าไม่นานเราก็จะต้องออกปล้นเศรษฐีเจ้าของทางรถไฟ ปล้นผู้โดยสารรถไฟทั้งขบวน ปล้นเจ้าของไร่ ปล้นโรงกลั่น ปล้นรถหุ้มเกราะ และจุดไฟเผาไร่จนวอดวาย ทั้งหมดนี้ในภารกิจที่จำเป็นต้องทำเพื่อขยับเส้นเรื่องของเกมไปข้างหน้า ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกถ้าอยากเห็นฉากจบ
แน่นอน เราทุกคนย่อมไม่อยากเป็น ‘ตัวร้าย’ ในเรื่องราวของตัวเอง ยากนักที่คนจะยอมรับความจริง ในแก๊งเรามีเพียงโฮเซย์ สมาชิกอาวุโสในแก๊งดัทช์ ผู้เฒ่าซึ่งเปี่ยมปัญญาและสุขุมลุ่มลึกที่สุด เพียงคนเดียวเท่านั้นที่กล้าเผชิญหน้าและยอมรับความจริงอย่างกล้าหาญ ตอนหนึ่งโฮเซย์พูดว่า พวกเราหลงทางแล้ว ตอนนี้ “เป็นแค่นักฆ่าฝูงนึงเท่านั้นเอง”
คุณธรรมแบบสัมพัทธ์ที่คิดเอาเองตามอำเภอใจว่าอะไร ‘ดี’ อะไร ‘เลว’ มีปัญหาเสมอ อันตรายใหญ่หลวงที่ RDR2 ทั้งเกมชี้ให้เห็นก็คือ ทุกคนสามารถอ้างคุณธรรมเข้าข้างตัวเองเพื่อทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเลวร้ายและรุนแรงสักเพียงใด แต่แน่นอนว่าการสร้างความชอบธรรมจอมปลอมแบบนี้ไม่มีทางจบแบบอื่น นอกเหนือจากวงจรอุบาทว์แห่งความพยาบาท การ ‘เอาคืน’ แบบ ‘ทีใครทีมัน’ ไม่จบไม่สิ้น ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับแก๊งของดัทช์ในเกม สิ่งที่นำทางไปถึงจุดจบ
RDR2 ฉายภาพการเปลี่ยนผ่านจากยุคเถื่อนที่คุณธรรมเชิงสัมพัทธ์อยู่ได้เพราะกฎหมายทางการยังเอื้อมไปไม่ถึง ยุคแห่งการอุปถัมภ์ค้ำชูส่วนบุคคล ไปสู่ยุคใหม่ที่ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมทางกฎหมาย ฉายภาพให้เห็นว่าถึงแม้เกียรติภูมิแบบคาวบอยคนเถื่อนจะเป็นเรื่องที่ดูเท่และโรแมนติกสักเพียงใด สุดท้ายแล้วจุดจบของวิถีชีวิตแบบนี้ก็จำเป็นต่อการสร้างสังคมที่มี ‘นิติรัฐ’ สังคมที่คนยอมรับได้ว่า ‘กฎหมาย’ สามารถอำนวยให้เกิด ‘ความยุติธรรม’