Livraria Bertrand The Oldest Bookstore in the World เขียนโดย ณวรา หิรัญกาญจน์ และ A Lovely History of Shakespeare and Company เขียนโดย รังสิมา ตันสกุล คือหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านจบก่อนครึ่งเดือนกรกฎาคม ทั้งสองเล่มเผยเนื้อหาเกี่ยวกับร้านหนังสืออิสระสองร้านในประเทศทางทวีปยุโรป นั่นชวนให้รู้สึกว่าทำไมเราไม่ลองเล่าประวัติศาสตร์ร้านหนังสือในเมืองไทยดูบ้างล่ะ
ตามข้อมูลจากหนังสือข้างต้น Livraria Bertrand แห่งกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกสจัดเป็น ‘ร้านหนังสือเก่าแก่ที่สุดในโลก’ ซึ่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ตราบปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นในปีคริสต์ศักราช 1727 (โอ้โห! 291 ปีก่อนเลยเหรอเนี่ย) ส่วน Shakespeare and Company แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นร้านหนังสือแสนรักสำหรับใครต่อใครที่ได้เยี่ยมเยือน ผมเองเคยมีประสบการณ์สัมผัสและดื่มด่ำโลกหลังบานประตูสีเขียวมาแล้ว จนบัดนี้ก็ยังประทับใจมิรู้เลือน ที่อร่อยลิ้นคือน้ำพุหน้าร้านเพราะกรอกใส่ขวดมาดื่มฟรี โอ๊ะโอ๋! คงขออนุญาตเล่าคร่าวๆ เพียงเท่านี้แหละ หากคุณผู้อ่านสนใจจริงๆ ลองหาหนังสือมาเลาะสายตาอ่านเองเถิดขอรับนายท่าน แน่นอน สิ่งที่ผมจะโม้อย่างเพลิดเพลินต่อไปไม่แคล้วเรื่องร้านหนังสือสองร้านในอดีตกาลของไทย
พอกล่าวถึงประวัติศาสตร์ร้านหนังสือในเมืองไทยดูเหมือนยังไม่ค่อยมีใครศึกษาอย่างจริงจังเท่าใดนักมักแว่วยินเหตุผลทำนองว่าปราศจากการหลงเหลือข้อมูลให้ค้นคว้ามากพออั นที่จริงหลักฐานที่จะแสดงให้เห็นความมีชีวิตชีวาของร้านหนังสือแห่งวันวานมีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยเ พียงแต่กระจัดกระจายทีละนิดทีละหน่อยไปปรากฏตามเอกสารเก่าๆ หลายประเภท การนำมาปะติดปะต่อจึงเป็นงานยากพอดู
ณ บัดนี้ผมใคร่จะเชื้อเชิญคุณผู้อ่านร่วมย้อนเวลาไปสัมผัสร้านหนังสือสำคัญสักสองสามร้านในโฉมหน้าประวัติศาสตร์
ร้านหนังสือซึ่งเน้นขายหนังสือเป็นหลักแบบที่เราเห็นในปัจจุบันเพิ่งจะมาเริ่มชัดเจนช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นานนัก
เดิมทียุคแรกๆ ช่วงทศวรรษ 2450 และทศวรรษ 2460 จะเห็นรูปแบบของร้านให้เช่าหนังสือเสียมากกว่า เช่นร้านของแม่เลื่อน ลอยฟ้าย่านประตูผี หรือร้านเชิงสะพานกิมเซ่งหลีซึ่ง ส.บุญเสนอสมัยเป็นนักเรียนเคยเช่าบ่อยๆ ส่วนการขายหนังสือนั้น จะเป็นสินค้าที่ถูกจัดวางร่วมกับสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เพราะรายได้จากการขายหนังสือไม่พอเลี้ยงชีพ กระนั้น ในทศวรรษ 2460 ก็มีอยู่บ้างบางร้านที่เน้นขายหนังสืออย่างเดียวนั่นคือร้านพร้อมภัณฑ์ของ พร้อม วีระสัมฤทธิ์ ที่เปิดร้านจัดจำหน่ายหนังสือและตำราต่างๆ ตรงแยก เอส.เอ.บี.
แหล่งร้านขายหนังสือมักอยู่ในย่านถนนเจริญกรุง กล่าวได้ว่าเป็น ‘ถนนหนังสือ’ เพราะเป็นสายถนนที่มีร้านเรียงรายมากที่สุด ยกตัวอย่างชื่อร้านก็เช่น บางกอกบรรณกิจ, ตี่ง้วนบรรณาคาร เป็นต้น ร้านหนังสือแห่งหนึ่งที่ทั้งรุ่งเรืองและเลื่องลือย่อมได้แก่ ร้านหนังสือ ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ ตั้งอยู่บริเวณระหว่างสี่กั๊กพระยาศรีกับแยกเฉลิมกรุง ทั้งยังมีอีกร้านในเครือเดียวกันอยู่ใกล้ชื่อ ‘พจนาตถ์’ เจ้าของร้านทั้งสองคือพระยานิพนธ์พจนาตถ์ ตอนหลังพอมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจึงเปลี่ยนไปใช้ชื่อนายสันตติ์ นิพนธ์พจนาตถ์ วิจิตรานนท์ ภูมิหลังของท่านเจ้าคุณก็ใช่จะธรรมดา เพราะถือกำเนิดในครอบครัวขุนนางโดยเป็นบุตรชายพระยารักษาสมบัติ (เทศเปรียญ) ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบและโรงเรียนอัสสัมชัญ มิหนำซ้ำ ยังเคยเป็นนักเรียนทุนไปเรียนชั้นมัธยมที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย (อ้อ แต่ตอนพระยานิพนธ์ฯ ไปเรียนฝรั่งเศสย่อมจะมิได้ไปเยือน Shakespeare and Company หรอกนะ เพราะร้านหนังสือบานประตูสีเขียวเพิ่งเปิดกิจการในปีคริสต์ศักราช 1951 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้ชื่อร้านเดิมว่า Librairie le Mistral)
ด้านประวัติการทำงานของท่านเจ้าคุณ เริ่มต้นด้วยรับราชการกระทรวงการต่างประเทศแล้วย้ายมากระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งได้มาดำรงตำแหน่งในกรมราชเลขาธิการสมัยรัชกาลที่ 6 และเคยปฏิบัติหน้าที่บรรณารักษ์ด้วย ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 จึงลาออกจากราชการแล้วไปประกอบอาชีพด้านการค้าขายและควานหาทำเลที่ดินมาสร้างประโยชน์ พร้อมทั้งเปิดร้านหนังสือ ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ ณ อาคารริมถนนเจริญกรุง ล่วงปลายทศวรรษ 2470 ได้ซื้อโรงพิมพ์สยามบรรณกิจซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันจัดพิมพ์หนังสือน่าสนใจออกมาหลายเล่ม เช่น แม่ครัวประจำบ้าน ผลงานของนายร้อยเอกหลวงพรหมโยธี จัดพิมพ์จำหน่ายปี พุทธศักราช 2476 ในนาม ‘สยามบรรณากิจ’ พอปีพุทธศักราช 2478 หนังสือที่จำหน่ายก็เปลี่ยนมาจัดพิมพ์ในนาม ‘กรุงเทพบรรณาคาร’
ในความทรงจำของกาญจนาคพันธุ์หรือขุนวิจิตรมาตรา บริเวณร้านหนังสือ ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ เดิมทีเคยเป็นสถานรับรักษาโรคแบบสมัยใหม่โดยหมอหนุ่มชาวญี่ปุ่นนาม ‘ทาเคดะ’ ซึ่งท่านขุนสมัยยังวัยรุ่น “…เคยไปฉีดยานีโอซัลวาซันที่นั่น รู้สึกว่าจะฉีดพลาดหรืออย่างไรไม่ทราบ เลือดไหลโซมแขนไปหมด จนหมอออกจะตกใจต้องหยุด แล้วฉีดใหม่จึงสำเร็จ เสร็จแล้วต้องเอาผ้าพันอยู่หลายวันแขนจึงหายบวม…” ครั้นหมอทาเคดะย้ายไป แหล่งเยียวยาอาการป่วยไข้เลยกลายเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าทางภูมิปัญญาแทน
ส.พลายน้อยตอนยังเรียนชั้นมัธยมก็ชอบแวะมาอุดหนุนหนังสือจากร้าน ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ และ ‘พจนาตถ์’ บ่อยๆ ดังคำบอกเล่าว่า “หนังสือที่ “กรุงเทพบรรณาคาร” พิมพ์จำหน่ายส่วนมากจะเป็นหนังสือทางวิชาการ เท่าที่ผมซื้ออ่านเป็นพวกประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์สยาม (สองเล่ม) ของนายพลตรี หม่อมเจ้าทองทีฆายุ ทองใหญ่พิมพ์ พ.ศ.2478 และปาฐกถาประวัติศาสตร์ ประเทศกรีกและประเทศโรมัน ฯลฯ…”
เรียกได้ว่ายุคนั้น พอนึกถึงร้านหนังสือแล้ว ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ ย่อมจะผุดพรายในความคิดนักอ่านลำดับต้นๆ ทีเดียว ช่างน่าเสียดายเหลือเกิน เหตุร้ายไม่คาดฝันอุบัติขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2487 ช่วงกรุงเทพฯ กำลังคับขันด้วยภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ร้านหนังสือทั้งสองถูกลูกระเบิดตกใส่จากการที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งบอมบ์เมืองหลวง จนเป็นเหตุให้นายสันตติ์ นิพนธ์พจนาตถ์ วิจิตรานนท์หรืออดีตพระยานิพนธ์พจนาตถ์ พร้อมภรรยาคือหม่อมราชวงศ์หญิงเลื่อนอรนพ วิจิตรานนท์ (สมรสกันเมื่อปีพุทธศักราช 2453) ถึงแก่มรณกรรมกลางเปลวเพลิงลุกท่วมร้านหนังสือ
อย่างไรก็ดี ทายาทของพระยานิพนธ์พจนาตถ์ได้ดำเนินกิจการร้านหนังสือขึ้นอีกครั้งหนึ่งริมถนนเจริญกรุงบริเวณใกล้ๆ ร้าน ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ ดั้งเดิม ปัจจุบันยังคงอยู่ในนามร้านหนังสือ ‘นิพนธ์’ อันเป็นนามที่ชวนให้ระลึกถึงท่านเจ้าคุณนั่นเอง
นอกเหนือไปจากร้านหนังสือ ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ ร้านขายหนังสือสำคัญอีกแห่งได้แก่ ‘สำนักงานนายศิลปี’ ตั้งอยู่ถนนตีทองใกล้สี่แยกเฉลิมกรุง เจ้าของร้านก็คือ ป่วน บูรณศิลปิน (หรือ ปกรณ์ บูรณปกรณ์ เจ้าของนามปากกา ป.บูรณปกรณ์) นักเขียนคนสำคัญแห่งยุคทศวรรษ 2470-2480 แรกทีเดียว ป.บูรณปกรณ์เริ่มก่อตั้งสำนักงานดังกล่าวขึ้นแถวถนนจักรพรรดิพงศ์เพื่อจัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นของเขาเอง แต่ต่อมาคิดจะจัดจำหน่ายหนังสือที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศด้วย จึงย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ถนนเฟื่องนคร ด้านหลังกระทรวงมหาดไทย เรียกตัวเมตตา ศาตะมานมาช่วยดูแลการสั่งซื้อหนังสือจากเมืองนอก เมื่อกิจการเฟื่องฟูขึ้น ปกรณ์ย้ายสำนักงานอีกหนมาเปิดเป็นทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือด้วย คราวนี้ให้ภรรยาคือ กัณหา บูรณปกรณ์ เจ้าของนามปากกา ‘ก. สุรางคนางค์’ ที่ประพันธ์นวนิยาย บ้านทรายทอง มาเป็นผู้จัดการร้านหนังสือ เริ่มเปิดร้านช่วงปลายทศวรรษ 2470
ความน่าสนใจของร้านหนังสือ ‘สำนักงานนายศิลปี’ อยู่ตรงที่การเป็นแหล่งจำหน่ายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก ไม่เพียงหนังสืออ่านสนุกสารพัดเรื่อง ยังมีหนังสือซึ่งทางการมองว่าเข้าข่าย ‘หนังสือต้องห้าม’ ด้วย อย่างเช่นผลงานของพวกนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้าย วรรณกรรมของพวกนักเขียนจีนและนักเขียนโซเวียต หนังสือเหล่านี้อาจหาจากร้านหนังสืออื่นๆ ไม่ได้เลย เพราะเจ้าของร้านเกรงกลัวกฎหมายทางการ แต่หากลองแวะมาเดินดูตามชั้นวางหนังสือของ ‘สำนักงานนายศิลปี’ ก็อาจจะร้องว้าว
ลูกค้าสำคัญคนหนึ่งของร้านหนังสือ ‘สำนักงานนายศิลปี’ เห็นจะมิพ้นคนหนุ่มนามศักดิชัย บำรุงพงศ์ ตอนเขาแวะเวียนไปน่าจะยังใช้ชื่อเดิมว่า ‘บุญส่ง บำรุงพงศ์’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่ตามนโยบายรัฐนิยมเพื่อเข้ารับราชการ และต่อมาภายหลังเขากลายเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงผ่านนามปากกา ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ ศักดิชัยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เคยไปเลือกดูหนังสือในร้านนี้ว่าทำให้มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของโดโรเลส อีบารูรี (Dolores Ibárruri) สตรีนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในสงครามกลางเมืองสเปน รวมถึงได้อ่านงานเขียน What is to be done? ของเลนิน, วรรณกรรมของนักเขียนจีนอย่างหลู่ซิ่น และวรรณกรรมของนักเขียนรัสเซียอย่างฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky) ซึ่งหนังสือที่ว่ามานั้นหาซื้อได้จากร้านหนังสือของป่วน บูรณศิลปิน
‘สำนักงานนายศิลปี’ น่าจะเลิกกิจการไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เฉกเช่นเดียวกับ ‘กรุงเทพบรรณาคาร’ ถ้าสมมติว่าร้านหนังสือทั้งสองยังคงเปิดกิจการอยู่เรื่อยมาจนทุกวันนี้คงเปี่ยมล้นมนต์เสน่ห์ไม่แพ้ร้านหนังสือ ‘Livraria Bertrand’ ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส และ ‘Shakespeare and Company’ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ถึงแม้ไม่มีตัวร้านหนังสืออยู่แล้วก็ตามเถอะ จะปฏิเสธได้อย่างไรเล่าว่าทั้งสองร้านมิใช่ตำนานสำคัญแห่งพื้นที่ทางภูมิปัญญาในประวัติศาสตร์ไทย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กองบรรณาธิการ. “สนทนาสามัญชน” (บทสัมภาษณ์เสนีย์ เสาวพงศ์). ใน ถนนหนังสือ 2, ฉ. 8 (กุมภาพันธ์ 2528)
- กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อ 70 ปีก่อน.พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2524 แด่ผู้ที่จากไป. พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ ปกรณ์ บูรณปกรณ์ 19 ธันวาคม 2496.
- พ. เนตรรังษี. คนขายหมึก. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2538
- ส.บุญเสนอ. ตามรอยลายสือไทย เรื่องราวในชีวิตนักประพันธ์กลุ่มยุคเริ่มประชาธิปไตย.กรุงเทพฯ : พี.วาทิน พับลิเคชั่น, 2531
- ส.พลายน้อย. ชีวิตที่คิดไม่ถึง. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2543
- ส.พลายน้อย. สำนักพิมพ์สมัยแรก. กรุงเทพฯ : คอหนังสือ, 2548