เดือนแห่งไพรด์ของชาวเพศหลากหลายปีนี้ชวนให้ผู้เขียนคิดถึงกระแสการจิ้น คู่จิ้นและคู่เกย์ที่มีอยู่มากมายเต็มโลกอินเทอร์เน็ต กระแสซีรีส์คู่เกย์น่ารักสดใสชวนให้ผู้ชมฟินมีมากมายหลายช่องหลายเรื่อง เม้งบ้าง หมอป่าบ้าง พี่อาทิตย์บ้าง พี่ปิ๊กบ้าง อะไรก็ว่าไป ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ ก็อาจมีตัวละครเพศหลากหลายที่เป็นคู่กันหลายคู่ ดาว-ก้อย (ฮอร์โมน), เดียร์-ลูกหว้า (สงครามนางงาม 1), ภู-ธีร์ (ฮอร์โมน), พี-ก้อง (พรุ่งนี้ก็รักเธอ), โต้ง-มิว (รักแห่งสยาม), และ จอห์น-ธีร์ (รักแปดพันเก้า) หรือคู่อื่นๆ อีกถ้าใครนึกออก แต่ก็ไม่ใช่แค่ตัวละครที่เป็นเกย์หรือเลสเบียนชัดๆ ที่ทำให้เรารู้สึกฟิน เพราะพลังจิ้นวาย หรือจับคู่ชายชาย หรือหญิงหญิงให้เป็นคู่กันนั้นช่างยิ่งใหญ่
ถึงแม้ตัวละครเหล่านั้นจะไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบชู้สาวกัน หรือบางครั้งก็อาจจับคู่กับตัวละครรักต่างเพศตัวอื่นๆ ในเรื่องด้วยซ้ำ แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะเชียร์ แคป จับคู่ เขียนฟิก กรณีนี้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงตัวละครเท่านั้น แต่ยังรวมเอาดารานักร้องในโลกความเป็นจริงด้วยซ้ำไป ดารานักแสดงหรือแม้แต่บทละครก็เอาใจกลุ่มผู้ชมที่ชอบจิ้นโดยการเขียนบทหรือการเล่นกันราวกับเป็นคู่รักจริงๆ
แน่นอนว่ากิจกรรมจิ้นวายก็คงถูกมองว่าเป็นกิจกรรมบันเทิงและไม่ควรทำเป็นจริงเป็นจัง แถมยังอาจถูกมองได้ว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความบันเทิงที่ไม่ได้สนับสนุนสิทธิของชาวเพศหลากหลายแต่อย่างใด แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณโทรมาภายในสามสิบนาที ไม่ใช่ๆ เดี๋ยวก่อน การจิ้นวายถือเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนที่สนใจวรรณคดีศึกษาและเพศสถานะเลยทีเดียว หรือถ้าคุณยังไม่สนใจวรรณคดีศึกษาหรือการวิจารณ์วรรณกรรม คุณอาจจะสนใจขึ้นมาก็ได้ ดิฉันขอบอกก่อนว่า ดิฉันเคยใช้ทักษะการจิ้นวายของดิฉันพัฒนาเป็นเปเปอร์และตีพิมพ์มาแล้ว หากคุณสนใจและพอมีทักษะบ้างคุณก็ทำได้ และในฐานะอาจารย์วรรณคดี ดิฉันก็ขอเชียร์ให้ลูกศิษย์ทำด้วยเช่นกัน อย่าให้ทักษะการจิ้นของหนูมันจำกัดอยู่แค่โลกของความบันเทิง (อะไรนะ แค่บันเทิงก็พอแล้วค่ะอาจารย์ อันนี้แล้วแต่หนูเลยค่ะ) บางคนอาจจะคิดมากว่า ไม่มีทักษะตีความวรรณกรรมเก่งเหมือนเพื่อนเลย จิ้นเป็นไหมล่ะ ถ้าพอจิ้นได้ ก็อาจจะปูทางพาคุณไปยังการตีความที่บางคนไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยก็ได้นะ
การจิ้น หรือการจินตนาการว่าตัวละครหรือบุคคลมีลักษณะเพศหลากหลายนั้น มีประโยชน์ในการอ่านวรรณกรรมด้วยมุมมองเพศสถานะ เพราะการจิ้นจะช่วยชุบชีวิต หรือไม่ก็รังสรรค์ตัวละครเพศหลากหลายในวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในยุคสมัยหรือประเทศที่เพศวิถีแบบเพศหลากหลายไม่เป็นที่ยอมรับ
การนำเสนอตัวละครเหล่านั้นช่วยท้าทายแนวคิดกระแสหลักเกี่ยวกับเพศสถานะในยุคสมัยหรือประเทศนั้นๆ และช่วยเปิดเผยตัวละครที่ต้องแอบๆ ซ่อนๆ เพราะกฎเกณฑ์ในสมัยนั้นด้วย เราอาจเทียบเคียงความรัก (ที่อาจไม่ประสบความสำเร็จ) ของตัวละครเหล่านี้กับตัวละครรักต่างเพศ เพื่อชี้ให้เห็นแนวคิดเรื่องเพศที่อ่านซ่อนอยู่ในเรื่องด้วยก็ได้ สิ่งที่ดิฉันมักจะเตือนนักศึกษาบ่อยๆ เวลาทำงานแนวจิ้นมาส่งคือ หนูจิ้นทำไมคะ การมองว่าตัวละครตัวนี้เป็นเกย์มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้คะ การอ่านว่าเขาเป็นเกย์ช่วยให้เรามองเรื่องนี้ในมุมใหม่ได้ยังไงบ้างคะ อะไรประมาณนั้น และที่สำคัญ คนตีความมีหลักฐานจากในตัวบทมากแค่ไหนมาสนับสนุนเรื่องนี้ ตอนนี้นักจิ้นก็อาจจะมาช่วยกู้โลก ปลุกให้ปู่ย่าตาทวดที่ต้องเป็นชาวเพศหลากหลายได้ปรากฏตัวขึ้น อย่างน้อยก็ในมโนสำนึกของเรา
มาถึงจุดนี้ ดิฉันนึกถึงคำติติงหรือท้วงติงของนักอ่านหลายๆท่าน ที่ชอบพูดว่า “เฮ้ย ตัวละครนี้ไม่ได้เป็นหรอก” “เฮ้ย เขารักกันแบบพี่น้อง” “เฮ้ย มโนหรือเปล่า” เอาอย่างงี้นะคะ คือการจิ้นเนี่ย ไม่ได้บอกว่าเป็นจริงๆ อยู่แล้วนี่คะ มันก็เอาใครมาพิสูจน์ไม่ได้อยู่แล้วว่าตัวละครตัวนั้นจะเป็นชาวเพศหลากหลายหรือไม่เป็น เราจะให้เขากระโดดออกมาให้เราสัมภาษณ์แบบเรื่องปลายเทียนเหรอคะ เราก็ทำไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้เขียนออกมาห้ามว่า ไม่ได้ๆ เธออย่ามาคิดแบบนี้ มันก็ห้ามความคิดคนอ่านไม่ได้หรอกค่ะ ไม่จำเป็นว่าคนอ่านจะต้องคิดเหมือนที่ผู้เขียนคิดตอนที่เขียนงานทั้งหมด คำถามที่หาว่าคนจิ้นมโนนั้นใช้ได้กับแทบทุกรูปแบบของการวิจารณ์วรรณกรรม “ทำไมคิดมากจัง” “มโนแล้ว” ฯลฯ อ้อ ใช่ค่ะ มันก็ต้องมโนอยู่แล้ว หลายๆคนบอกว่าเราคิดมากและพยายามหาอะไรนอกเหนือจาก “พื้นผิว” ของเรื่อง แต่ก็ขอถามด้วยเหมือนกันว่า แม้แต่อ่านข้อความในระดับ “พื้นผิว” คุณยังเข้าใจผิดกันได้เลยไม่ใช่หรือคะ ป้ายโฆษณาหนึ่งป้ายคนอาจจะเข้าใจไปได้ร้อยแปด หรือแม้แต่กระดาษโน้ตแปะที่หน้าห้องทำงาน คุณก็อาจจะเข้าใจผิดได้ด้วยซ้ำ เราทุกคนมีวิธีอ่านสิ่งที่เราเห็นในแบบของเราเองค่ะ และการจะวัดว่าอะไรผิดถูกก็อาจจะต้องดูที่หลักฐานและการให้เหตุผล ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีคำตอบที่ถูกคำตอบเดียว ดิฉันไม่ได้ว่าอะไรถ้าคุณจะไม่อ่านวรรณกรรมแล้วจิ้น ยังมีวิธีอ่านอื่นๆ อีกมากมายค่ะ
บ่นด้วยความอัดอั้นตันใจไปแล้ว 5555 (ต้องใส่ 5555 เดี๋ยวเขาหาว่าซีเรียส) ทีนี้ ดิฉันจะขอยกตัวอย่างวรรณกรรมสองเรื่องที่พอหาชมได้ หรือพอหาอ่านฉบับภาษาไทยได้ มาเสนอให้ดูว่าการจิ้นจะนำไปสู่อะไรบ้าง นั่นคือเวนิสวาณิช หรือ The Merchant of Venice ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) และ Dracula ของ แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) กราบขออภัยที่ดิฉันจะพูดถึงกลุ่มเกย์อย่างเดียวนะคะ ดิฉันไม่ค่อยมีความรู้เรื่อง
เลสเบียนจริงๆ
เวนิสวาณิช : ทิ้งเงินลงแม่น้ำ
เรื่องย่อของเรื่องนี้คือบัสสานิโย มาขอเงินเพื่อนสนิทที่เป็นพ่อค้าอย่างอันโตนิโยเพื่อจะใช้แต่งตัวเดินทางไปหาสาวสวยที่เขาหมายปองนามปอร์เชีย อันโตนิโยยินดีให้ยืมทั้งๆที่บัสสานิโยยังไม่ได้คืนเงินตัวเองคราวที่แล้วและตัวเองไม่มีเงินอยู่กับตัว เพราะเอาเงินลงเรือค้าขายหมด อันโตนิโยยินดีไปยืมเงินไชล็อค พ่อค้ายิวที่ชิงชังคนคริสเตียนเพราะคนคริสเตียนเหยียดชาวยิว ไชล็อคให้ยืม โดยเขียนเงื่อนไขว่า ถ้าไม่ได้เงินตามกำหนด จะขอเฉือนเนื้อที่หน้าอกหนึ่งปอนด์ อันโตนิโยคิดว่าตัวเองจะได้เงินอยู่แล้วจากการค้าขายเลยเซ็นสัญญา
ส่วนบัสสานิโยก็เอาเงินไปแต่งสาวสวยที่ชื่อปอร์เชีย ปอร์เชียเป็นลูกสาวเศรษฐี ที่ตายไปได้ออกกฎว่า ใครก็ตามที่จะมาเป็นเจ้าบ่าวของลูกสาวต้องเปิดหีบเสี่ยงทาย ในหีบทอง หีบเงิน และหีบตะกั่วนั้น มีใบเดียวที่จะมีรูปของปอร์เชียอยู่ ถ้าเปิดแล้วไม่เจอก็อดแต่งด้วย แต่ถ้าเปิดแล้วเจอก็จะได้แต่งงาน ไม่มีใครเปิดหีบถูกใบเลย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วปอร์เชียใบ้กับทุกคนว่าอยู่ในหีบใบไหน อย่างไรก็ตาม บัสสานิโยเปิดหีบตะกั่วและพบภาพของปอร์เชีย ราวกับเป็นคำสอนว่าภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้บอกว่าเนื้อแท้เป็นอย่างไร บัสสานิโยก็สมหวังและได้แต่งงานกับปอร์เชีย ซึ่งมีใจให้เขาเช่นกัน
แต่เรืออันโตนิโยกลับหายสูญ ไม่มาตามกำหนด จนมีข่าวออกมาว่าเรือสินค้าอัปปางกลางทะเลทั้งหมดอันโตนิโยไม่มีเงินไปใช้หนี้จึงยอมทำตามสัญญาของไชล็อค ทุกคนพยายามห้ามไชล็อค แต่ไชล็อคยืนยันจะทำตามสัญญา ในตอนนั้น ปอร์เชียได้ปลอมตัวเป็นชายมาช่วยบัสสานิโยและอันโตนิโย โดยการวิงวอนให้ไชล็อคให้อภัยและมีเมตตา (ฉากนี้ฉากที่มีกลอนบทสำคัญ “อันความกรุณาปรานี” หรือ The quality of mercy is not strained) เมื่อไม่ได้ผล ปอร์เชียจึงแก้เกมบอกว่าไชล็อคต้องการแค่เนื้อ เพราะฉะนั้นเลือดจะต้องไม่ไหล และจะต้องตัดให้ได้หนึ่งปอนด์พอดี ไม่ขาดไม่เกิน หากทำไม่ได้จะต้องริบทรัพย์เข้านครเวนิส ไชล็อคคุ้มคลั่งและยอมแพ้
ปอร์เชียแกล้งขอแหวนหมั้นที่ตัวเองเป็นคนให้บัสสานิโยไว้และกำชับว่าห้ามถอดหรือทำหาย เพื่อเป็นค่าทนาย บัสสานิโยจำใจให้ไป ก่อนจะเจอปอร์เชียกลับมารออยู่ที่บ้านและถามคำถามว่าแหวนหายไปไหน ทั้งสองซักถามพูดคุยกันอยู่นาน โดยที่ปอร์เชียแกล้งโมโหสารพัดวิธี จนอันโตนิโยต้องเข้ามาห้ามและบอกว่าจะประกันให้อีกรอบก็ได้ (นี่เป็นเพื่อนหรือเป็นประกันภัย) ว่าทนายหนุ่มมาขอแหวนไปจริงๆ ปอร์เชียจึงยอมบอกความจริงว่าตัวเองปลอมตัวเป็นทนาย และแจ้งข่าวดีแก่อันโตนิโยว่า เรือที่คิดว่าอัปปางนั้นเดินทางกลับมาแล้วพร้อมทรัพย์สินมากมาย
ถ้าเราจะมองอันโตนิโยในกรอบของเกย์ไทยสมัยใหม่ เราอาจจะบอกว่า อันโตนิโยเป็นสายเปย์ที่แท้จริง เพราะให้ทุกอย่าง เขาไม่คืนก็ยังจะให้อยู่ แต่การเป็นสายเปย์จะนำไปสู่อะไรล่ะ เราก็คงต้องเทียบการแลกเปลี่ยนหรือความสุขสมหวังในเรื่อง เราลองสังเกตว่าการแต่งงานของบัสสานิโยและปอร์เชียนั้นเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยน การจับจ่าย และการใช้วัตถุเป็นเงื่อนไข
หลายๆ คนมาแต่งงานกับปอร์เชียไม่ใช่แค่เพราะสวย แต่เพราะเธอรวยมาก การมารักเธอหรือแต่งงานกับเธอจึงเป็นการรักเพราะหวังทรัพย์สมบัติ ถึงแม้บัสสานิโยจะไม่ได้รักเธอเพราะทรัพย์สมบัติ แต่เขาก็ต้องอาศัยเงินของอันโตนิโย (ที่ยืมไชล็อคมาอีกที) เพื่อใช้เสริมหล่อและเดินทางไปยังบ้านปอร์เชีย การใช้เงินของบัสสานิโยก็ไม่ต่างจากการลงทุนเพื่อให้ได้ปอร์เชียมา การเปิดหีบตะกั่วเพื่อวัดว่าเจ้าบ่าวของลูกสาวจะเป็นคนไม่หลงรูปหรือเปลือกนอกก็ดูจะไม่ได้วัดอะไร เพราะสุดท้ายแล้วบัสสานิโยก็ยังเชื่อในเปลือกนอก
ปอร์เชียเองก็เช่นกัน เธอเข้ามาตอกย้ำเรื่องการแลกเปลี่ยนผ่านการปลอมตัวเป็นทนายและขอค่าจ้างทนาย ถึงแม้จะทำไปเพื่อแกล้งสามี แต่เมื่อสามียอมให้เป็นการยอมรับดุลของการแลกเปลี่ยน ยอมรับว่าการช่วยเหลือต้องอิงอยู่กับสินจ้างรางวัล เธอจึงตอกย้ำความคิดที่ว่า ไม่มีใครทำอะไรให้ฟรีๆ แต่อันโตนิโยนี่แหละทีให้ฟรี ลงทุนฟรีๆ อันโตนิโยยอมจ่ายเงินให้บัสสานิโยทั้งๆ ที่ประโยชน์นั้นแทบจะไม่มีทางย้อนกลับเข้าหาตัวเอง จ่ายเงินไปก็เหมือนโยนเงินลงแม่น้ำ ยังไงเขาก็ไม่คืน ยังไงเขาก็ไม่กลับมารักเรา การยอมสละเนื้อหนึ่งปอนด์ที่หน้าอกซ้ายก็เป็นเครื่องยืนยันการเสียทุกอย่างเพื่อตอบสนองอารมณ์รักและเศร้าระทมของตัวเอง (ที่พูดถึงตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง ถ้าอ่านต้นฉบับ)
การลงทุนของอันโตนิโยไม่ต่างจากการนำเงินใส่ถุงก้นรั่ว ที่ใส่เข้าไป เติมเข้าไปยังไงก็ไม่เต็ม แต่ก็เต็มใจเติม ความรักของชายคนนี้ที่มีต่อเพื่อนชายจึงไม่อาจชดเชยได้ด้วยการเดินทางกลับมาของเรือสินค้า ถ้าสิ่งที่อันโตนิโยต้องการเป็นเครื่องตอบแทนก็อาจจะเป็นความรักของบัสสานิโย ซึ่งเขาก็รู้ดีว่าไม่มีทางได้ ความรักของอันโตนิโยจึงยิ่งใหญ่ (พอๆ กับความแค้นของไชล็อค ซึ่งไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นชาวเกย์เท่าไรนัก) เพราะอยู่เหนือการลงทุนและการแลกเปลี่ยนใดๆ
ประโยคหนึ่งที่สะเทือนใจผู้เขียนมากๆ ก็คือ ประโยคที่อันโตนิโยพูดกับบัสสานิโยก่อนจะโดนเฉือนเนื้อนั่นคือ
อัน.
ฉันนี้เหมือนแกะโรคอยู่ที่ใน
กลางฝูงใหญ่. ควรตายวายชีวัน:
ผลไม้เน่าในเสียก่อนห่าม
ต้องหล่นก่อนแท้ตามวิสัยมั่น
ปล่อยฉันเถิดเพื่อนยาอย่าจาบัลย์
ตัวเพื่อนนั้นธุระอย่างอื่นมี
บัสสานิโย, เพื่อนจงคงชีวา
ไว้เพื่อทำศพข้าให้ควรที่
และแต่งกาพย์อาลัยด้วยไมตรี
เหมือนอนุสาวรีย์เพื่อนร่วมใจ
การใช้ความเปรียบว่าเป็นแกะติดโรค (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า wether หรือแกะตอน เน้นภาพความผิดแผกจากความเป็นชายอย่างเห็นได้ชัด) และการเน้นย้ำว่าตัวเองอ่อนแอ อาจเป็นการชี้ให้เห็นความเศร้าซึมที่เกิดจากตัวตนและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เป็นที่ยอมรับ และผิดแผกไปจากอัตลักษณ์เพศชายปกติ โดยสังเกตจากการใช้ประโยค “ผลไม้เน่าในเสียก่อนห่าม” ในพระราชนิพนธ์แปล ซึ่งอาจล้อสำนวน ชิงสุกก่อนห่าม หากชิงสุกก่อนห่ามใช้กับความสัมพันธ์ของรักต่างเพศ ความเปรียบว่า เน่าในเสียก่อนห่าม อาจมีนัยเชื่อมโยงความตายกับกลุ่มเพศหลากหลาย ที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ไม่สุก แต่เน่าตาย เหมือนความแตกต่างในรสนิยมทางเพศจะกลายเป็นความผิดบาปเน่าใน การมีชีวิตอยู่จึงไม่ใช่สิ่งที่อันโตนิโยอยากจะเลือก เพราะอยู่ไปก็รักไม่ได้ ไม่ใช่แค่เพราะเขาไม่รัก แต่สังคมก็ไม่รักเช่นกัน (สังเกตจากการเปรียบตัวเองกับสิ่งที่สมควรตายและสิ่งที่อ่อนแอ ไม่สมชายชาตรี) สิ่งที่อันโตนิโยขอแค่เพียงอย่างเดียวจากบัสสานิโยคือขอให้เขียนข้อความบนหลุมศพให้ และไม่ต้องแสดงความรักอะไรให้อันโตนิโยอีกแล้ว เพราะบัสสานิโยไม่ได้รักเขา
แดรกคูลา (Dracula) : ปีศาจร้ายทำลายบุรุษ
เรื่องย่อของแดรกคูลา นั้นเกี่ยวข้องกับโจนาธาน ฮาร์เคอร์ ทนายความฝึกหัดที่เดินทางไปยังทรานซิลเวเนียเพื่อเจรจาตกลงเรื่องการซื้อขายที่ดินกับท่านเคานท์แดรกคูลาผู้ลึกลับ เขาหวังว่าเมื่อทำภารกิจเจรจานี้สำเร็จ เขาจะได้เลื่อนขั้นเป็นทนายความจริงจัง มีเงินมากพอที่จะแต่งงานกับมินา คู่หมั้นของเขา แต่การณ์กลับพลิกผัน เมื่อเขาได้รู้ความจริงว่าแดรกคูลาคือปีศาจร้ายที่ต้องการขังเขาเอาไว้ในปราสาท เมื่อเขาหาทางหนีออกมาได้ เขากลับขอเลื่อนแต่งงานกับมินา โดยไม่มีสาเหตุ ในขณะเดียวกัน แดรกคูลาก็หาทางเดินทางมาอังกฤษ เพื่อแพร่เชื้อร้ายและทำให้คนกลายเป็นผีดูดเลือดกันจนหมด
ลูซี เวสเตนรา เพื่อนสนิทของมินา เป็นสาวสวย มีผู้ชายไปมาหาสู่อยู่ตลอด ทั้งอาร์เธอร์ โฮล์มวูด ลูกชายของลอร์ดโกดอล์มมิง, ควินซี มอร์ริส คาวบอยอเมริกัน, และนายแพทย์จอห์น ซีเวิร์ด ลูซีเลือกแต่งกับลอร์ดอาร์เธอร์ แต่ ณ วันที่ลูซีและมินาไปเที่ยววิทบี เธอกลับโดนแดรกคูลาเล่นงานจนตัวค่อยๆ ซีดลง นายแพทย์จอห์นจึงได้ให้ดอกเตอร์แวนเฮลซิ่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้รักษาลูซี ดอกเตอร์แวนเฮลซิ่งใช้เครื่องถ่ายเลือดถ่ายเลือดจากร่างอาร์เธอร์ให้แก่ลูซี จนร่างกายอาร์เธอร์อ่อนเพลีย จากนั้น แวน เฮลซิ่งได้ให้นายแพทย์จอห์นและควินซีถ่ายเลือดด้วย แต่อาการของลูซีก็ยังไม่ดีขึ้น จนลูซีเสียชีวิตในที่สุด แต่แล้ว เมื่อลูซีตายได้กลายเป็นแวมไพร์ออกจับเด็กและสัตว์เล็กมาดูดเลือด แวนเฮลซิ่งจึงพาชายหนุ่มที่หมายปองเธอทั้งสามคนไปร่วมกันปราบเธอจนสำเร็จ
ก่อนจะร่วมมือกับโจนาธาน ฮาร์เคอร์ตามหากล่องดินที่ใช้แพร่เชื้อในกรุงลอนดอนให้หมดทุกแห่ง ส่วนนายแพทย์ จอห์น ซีเวิร์ด นั้น ได้พบว่า คนไข้จิตเวชคนหนึ่งที่ชอบกินสัตว์สกปรกต่างๆเพื่อเพิ่มพลังชีวิตตัวเองนั้น แท้จริงแล้วได้อิทธิพลจากแดรกคูลาที่มาเสนอให้หาทางเพิ่มพลังชีวิตตัวเอง ภายหลังตายไปเพราะถูกแดรกคูลาสังหาร ณ ช่วงเวลาที่พรรคพวกของฮาร์เคอร์กำลังเดินทางไปจัดการกล่องดินเหล่านั้น แดรกคูลาได้ลอบเข้ามาทำร้ายมินา โดยให้มินาดูดดื่มเลือดของตัวเองจากหน้าอก ทำให้มินาขยับตัวและพูดไม่ได้ในวันรุ่งขึ้น มินาจึงบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแดรกคูลาไม่ได้อีก
แต่ในที่สุด แดรกคูลาเห็นว่าสู้กับคนกลุ่มนี้ไม่ได้จึงคิดหนี แต่ก็ถูกพวกของฮาร์เคอร์ไล่ตามทันจนมาถึงปราสาทแดรกคูลา แดรกคูลาได้ให้พวกยิปซีที่อยู่ในบริเวณปราสาทออกมาต่อสู้กับพวกของฮาร์เคอร์ ควินซี คาวบอยอเมริกันถูกฆ่าตาย แต่แดรกคูลาก็ถูกปราบได้ในที่สุด โจนาธานกับมินาแต่งงานกัน และตั้งชื่อลูกว่าควินซี
แดรกคูลาเป็นวรรณกรรมที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เริ่มจากการพิมพ์ก่อน งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในปี 1895 ซึ่งเป็นปีที่ออสการ์ ไวลด์ ขึ้นศาลด้วยคดีพฤติกรรมไม่เหมาะควรร้ายแรง (ก็คือคดีเป็นรักร่วมเพศนี่แหละค่ะ)
เนื่องจากออสการ์ ไวลด์เองเป็นบุคคลสำคัญที่ชาวลอนดอนรู้จัก เพราะชอบแต่งเนื้อแต่งตัว (ติดดอกไม้ไว้ที่กระดุม) แถมยังเป็นตัวแทนของแนวคิดทางศิลปวัฒนธรรมแนวใหม่ที่เรียกว่าสุนทรียนิยม (aestheticism) และแนวคิดว่าด้วยความเสื่อมทราม (Decadence) ที่ตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นสาระ’ และศีลธรรมแบบวิกตอเรียน ออสการ์ ไวลด์เองก็มีแฟนคลับมากมาย ในสายตาคนสายอนุรักษ์นิยม ออสการ์ ไวลด์จึงดูเหมือนเจ้าลัทธิอะไรสักอย่างที่จะสั่นคลอนศีลธรรมแบบวิกตอเรียนและทำให้สังคมป่วยไข้ สิ่งที่น่าสนใจคือ แดรกคูลาก็ทำแบบเดียวกันนี่แหละ คือเข้ามาลอนดอนเพื่อจะมาเผยแพร่ลัทธิที่น่าสยดสยอง (แบบที่คนไข้ของซีเวิร์ดเป็น) และทำให้ลอนดอนกลายเป็นเมืองของเชื้อร้าย เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าไวลด์เป็นชาวเพศหลากหลาย
แดรกคูลาก็มีลักษณะแบบนั้นเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากคือในตอนที่แดรกคูลาแย่งฮาร์เคอร์ออกมาจากผีสาวในปราสาทนั้น แดรกคูลาบอกว่า ผู้ชายคนนี้เป็นของเขา เราอาจจะคิดว่าแดรกคูลาจะกินฮาร์เคอร์ก็ได้ แต่ไม่เห็นจะกินสักที จนฮาร์เคอร์หนีไปได้ ที่น่าสนใจคือ ฮาร์เคอร์บอกกับมินาว่าเขาขอเลื่อนงานแต่งงานออกไปก่อน มินาเองก็สังเกตเห็นว่าฮาร์เคอร์เองดูเหมือนคนไข้ไม่สบายจากอาการตระหนกตกใจบางอย่าง เราอาจกล่าวได้ว่า แดรกคูลาได้ทำลายความเป็นชาย (unman) ของฮาร์เคอร์ไปเสียแล้ว ในตอนจบเรื่องตอนบุกไปปราบแดรกคูลา ฮาร์เคอร์กำมีดดาบไว้ในมือแน่นตลอดเวลา ถ้าเรามองว่าดาบมีลักษณะคล้ายลึงค์ การจับมีดดาบไว้ก็อาจเป็นการพยายามเรียกความมั่นใจเรื่องความเป็นชายกลับมาก็ได้ การมีลูกตอนจบก็ช่วยยืนยันว่าฮาร์เคอร์มีน้ำยาและแน่นอน มีความเป็นชาย
อย่างที่บอกไปเมื่อกี้นี้ว่าแดรกคูลามีบริวารเป็นผีสาวสามตน แวนเฮลซิงก็มีชายหนุ่มสามคนเป็นผู้ช่วยเหมือนกันไม่ใช่หรือ และถึงแม้แวนเฮลซิงจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับแดรกคูลา แต่กลับ ‘ดูดเลือด’ ได้ เหมือนแดรกคูลาไม่มีผิด (แถมทำให้ลูซีที่กำลังจะกลายเป็นผีดิบดูดเลือด ได้เลือดจากชายหนุ่มด้วยซ้ำ) หากเรากลับไปอ่านฉากดูดเลือดใหม่ เราจะเห็นสีหน้าอันเป็นสุขของบรรดาชายหนุ่มที่ได้ ‘หลั่งเลือด’ ลงไปในร่างของลูซี ใบหน้าของอาร์เธอร์นั้นดูอ่อนแรงลงแต่กลับเป็นสุข การดูดเลือดจึงเป็นภาพของการร่วมเพศด้วย ถ้าแดรกคูลาคือผีร้ายที่นำพาความวิปลาสทางเพศมาเผยแพร่ให้แก่มวลมนุษย์ แวนเฮลซิ่งก็คงจะไม่ต่างกัน เราอาจมองว่าสโตเกอร์ตั้งใจสร้างชายกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นคู่ตรงข้ามและเน้นย้ำความห่างไกลจากเรื่องเพศ อย่างไรเสีย ชายหนุ่มกลุ่มนี้กลับต้องแสดงอาการอ่อนแอจนนำเสนอออกมาแล้วคล้ายภาพเหมารวมผู้หญิงในสมัยวิกตอเรียน (ร้องไห้คร่ำครวญ คุ้มคลั่ง สะเทือนใจบ่อยๆ) แม้แต่แวน เฮลซิง หัวหน้าขบวนการเองก็เป็นไปด้วย เพราะฉะนั้นความเหนียวแน่นกลมเกลียวกันในหมู่ผู้ชายก็อาจไม่ต่างจากความสัมพันธ์แบบเพศหลากหลายที่ถูกมองว่าเป็นพิษภัยเลยก็ได้ (/me เปิดคลับฟรายเดย์ ดูพี่โทนี่กับเต๋า)
ดิฉันเห็นว่ากระแสจิ้นวายมีกันมากมายเยอะแยะ มีนวนิยายเกย์หรือนวนิยายชวนจิ้นออกมาหลายเล่ม ดิฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรถ้าจะมองวรรณกรรมเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความบันเทิงอย่างเดียว แต่ถ้าจะมองมันในเชิงการเมืองเรื่องเพศ ณ เดือนไพรด์เดือนนี้ ผู้เขียนก็ขอมองว่า การจิ้นโดยทั่วไปอาจจะยังไปไม่ถึงการตั้งคำถามหรือเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเรื่องเพศมากนัก คนบางคนอาจยอมรับให้ผลิตงานที่ดูเกย์ๆ ออกมาเยอะๆ เพียงเพราะขายได้และมองว่ามันเป็นเพียงละครหรือผลงานทางศิลปะ ไม่ใช่ความเป็นจริง
อย่างไรเสีย ดิฉันก็เห็นว่ากระแสการจิ้นวายก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ด้วยเช่นกัน หากคุณจิ้นได้และชอบจิ้น ดิฉันก็หวังว่าคุณจะลองช่วยดิฉันค้นหาเกย์-เลสปู่ย่าตาทวดที่ซ่อนอยู่ในงานเขียนในยุคสมัยที่ชาวเพศหลากหลายไม่เป็นที่ยอมรับ และนำการตีความของคุณมาบอกเล่า เพื่อชี้ให้เห็นถึงอคติที่เกิดขึ้นในอดีตและตั้งคำถามกับการเชื่อมโยงวรรณกรรมยุคเก่า หรือวรรณคดี ‘ทรงคุณค่า’ กับขนบรักต่างเพศที่ทำให้คนไม่ยอมรับตัวละครที่อาจมีพฤติกรรมแบบเพศหลากหลายในวรรณกรรม ‘ทรงคุณค่า’
อ้างอิงจากข้อมูลจาก
เชกสเปียร์, วิลเลียม. เวนิสวาณิช. พระราชนิพนธ์แปลโดยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ: บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด, ๒๕๔๔.
Shakespeare, William. The Merchant of Venice: The Oxford Shakespeare. Ed. Jay L. Halio. Oxford ; New York: OUP Oxford, 2008. Print.
Stoker, Bram. Dracula. New Edition. Oxford, New York: Oxford University Press, 2011. Print. Oxford World’s Classics.