ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กฎหมายที่มีเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกใช้มากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จากสถิติโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 2 พฤษภาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ในข้อหาตาม ม.112 อย่างน้อย 243 คน ใน 263 คดี
เช่นนี้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ม.112 ได้กลายเป็นปัญหาในระดับการเมือง
เป็นปัญหาที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการพูดถึงในทางการเมือง แต่หลังจากการชุมนุมระลอกปี 2563 เป็นต้นมา กฎหมายมาตรานี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้พรรคการเมืองหลากหลายพรรคต้องออกมาแถลงตอบรับข้อเรียกร้องของสังคม และน่าสนใจว่า เมื่อมาถึงฤดูหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 เรื่อง ม.112 ก็ได้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นหลัก ที่ทุกพรรคต้องพูดถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วแต่ละพรรคการเมืองมีจุดยืนอย่างไร? บางพรรคเสนอให้แก้ไข บางพรรคเสนอให้ยกเลิก หลายพรรคประกาศไม่แตะต้อง ขณะที่บางพรรคเสนอให้เพิ่มความคุ้มครอง The MATTER สรุปจุดยืนของแต่ละพรรค ในประเด็น ม.112 ไว้ให้แล้ว
พรรคสามัญชน: ยืนยันยกเลิก ม.112
พรรคสามัญชน ถือเป็นพรรคเล็กๆ ที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเพียงแค่ 6 คน แต่ก็ถูกพูดถึงในการเลือกตั้งปีนี้ ในฐานะพรรคที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมาย ม.112
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พรรคสามัญชนได้ออกแถลงการณ์ในนามหัวหน้าพรรค หัวข้อ ‘ยกเลิก 112 เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ระบุว่า “พรรคสามัญชนเห็นว่าการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่จะปูทางไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเรื่องอื่นๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
และเมื่อคราวที่ ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม—อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรม อดอาหารในเรือนจำเพื่อผลักดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ พรรคสามัญชนยังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 สนับสนุนข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ โดยมีส่วนหนึ่งระบุว่า “พรรคสามัญชนขอใช้โอกาสนี้ยืนยันอีกครั้งว่า พรรคสามัญชนยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนในการ #ยกเลิก112 และกฎหมายอื่นที่ถูกใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนจากพรรคสามัญชน ที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า จุดยืนของพรรคคือยกเลิก ม.112 แต่ก็ยินดีรับฟังเสียงของสังคม หากไม่ต้องการให้ยกเลิก
“ที่เราเลือกใช้คำว่า ‘ยกเลิก’ มันมีความสำคัญมากที่เราจะต้องสื่อสารให้ชัดว่ามาตรานี้มีปัญหาอย่างรุนแรง ดังนั้น วิธีการของมันก็คือ ยกเลิกมัน แต่ในกระบวนการยกเลิก … สมมติถ้าเราเสนอว่ายกเลิกไป กระบวนการของสังคมบอกว่าแก้ไข เราก็คงจะต้องเข้าใจบริบทของสังคมให้ไปด้วยกัน”
การฟังเสียงของสังคมอาจทำได้ด้วยประชามติ และถึงแม้ท้ายที่สุดจะไม่ได้ยกเลิก แต่เขามองว่า กระบวนการเช่นนี้จะทำให้การพูดคุยเรื่องการยกเลิกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย “เราสามารถพูดคำว่ายกเลิก ม.112 ด้วยความปลอดภัย เราสามารถยกเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องยกเลิก ม.112 ในกระบวนการทำประชามติ” เลิศศักดิ์กล่าว
พรรคก้าวไกล: ลดโทษ-ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์-ยกเว้นความผิดบางประการ
การแก้ไข ม.112 คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ในฐานะหนึ่งในพรรคที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน เรื่องนี้ก็ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้หลายๆ พรรคต้องออกมาแสดงจุดยืนว่าจะยอมจับมือหรือไม่จับมือกับก้าวไกล
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์เรื่องจุดยืนของพรรคต่อ ม.112 ซึ่งปัจจุบันก็ยังเข้าถึงได้จากเว็บไซต์ของพรรค โดยระบุว่า “ม.112 มีปัญหาในทุกมิติ ทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ พรรคก้าวไกลจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อแก้ไข ม.112 โดยข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของเราเป็นข้อเสนอที่พอจะพูดคุยกันกับทุกฝ่ายด้วยเหตุและผลได้
“ทั้งนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าหากสภาผู้แทนราษฎรไม่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อช่วยกันแก้ไขให้กฎหมายนี้เป็นธรรมขึ้นได้ สังคมก็จะเหลือเพียงตัวเลือกสุดท้าย คือ การยกเลิก ม.112 ไปอย่างถาวรตามข้อเรียกร้องของประชาชนนอกสภา”
ล่าสุด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังได้ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ยืนยันว่า “ส.ส.ที่มาจากพรรคก้าวไกลถึงแม้ว่าจะอยู่ในฝ่ายของรัฐบาลก็จะต้องยื่นแก้ไข ม.112 อยู่ดี … กฎหมายจะแก้ก็คือแก้ในรัฐสภา แต่คนที่จะยื่นก็คือพรรคก้าวไกลเป็นคนยื่นแน่นอน ถ้าไม่มีพรรคอื่นยื่น พรรคก้าวไกลก็ยังจะยื่นแน่นอน”
โดยสรุป จุดยืนที่พรรคก้าวไกลเสนอในการแก้ไข ม.112 คือ
- ลดโทษ เหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีความผิดต่อกษัตริย์ – ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีความผิดต่อราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- ให้ สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ เท่านั้น และให้เป็นความผิดที่ยอมความได้
- ยกเว้นความผิด หากเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต – ยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง (แต่ห้ามพิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และถ้าการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน)
พรรคเสรีรวมไทย: โทษหนักเกินไป ต้องลดโทษ
พรรคเสรีรวมไทยไม่เคยเห็นด้วยกับการยกเลิก ม.112 เพราะมองว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เราต้องเทิดทูนเอาไว้” อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้กล่าวบนเวที THE STANDARD DEBATE วันที่ 25 เมษายนว่า สำหรับพรรคเสรีรวมไทย โทษของ ม.112 ที่จำคุกสูงสุด 15 ปี ถือว่า “ร้ายแรงมาก ยิ่งกว่าไปฆ่าใครตายเสียอีก”
“ผมจึงมีความเห็นว่า มาตรานี้ โทษมันหนักเกินไปสำหรับพี่น้องประชาชน ก็ควรจะลดโทษลงมา เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูแลสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อไม่ให้มีใครมาก้าวก่าย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อมา
สอดคล้องกับวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่รับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ ที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้พูดคุยกับตะวันและกลุ่มนักกิจกรรมที่มายืนถือป้ายเรียกร้องให้พรรคการเมืองสนใจปัญหาของ ม.112 ว่า ประเทศชาติมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตนก็รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และตั้งใจจะแก้ไขกฎหมาย ซึ่งหากกฎหมายได้รับการแก้ไขแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งก็จะดีขึ้นในเวลาถัดมา
โดยสรุป พรรคเสรีรวมไทยเสนอว่า ควรตัดโทษ ‘อาฆาตมาดร้าย’ ออกจาก ม.112 และให้ไปอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับความผิดลอบปลงพระชนม์ หรือตระเตรียมการ ให้คงโทษ 15 ปีไว้ได้ แต่สำหรับความผิด ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท’ กษัตริย์ ก็ขอแค่เพียงไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น
พรรคเพื่อไทย: ต้องไปคุยกันในสภาฯ
พรรคเพื่อไทยจะแก้ไข ม.112 หรือไม่? นี่คงเป็นประเด็นที่ใครหลายๆ คนคงอยากได้คำตอบ แต่ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าจะแก้ไข ยกเลิก หรือไม่แตะ ม.112 ทางออกที่พรรคเพื่อไทยเสนอมาตลอดก็คือ ‘คุยกันในสภาฯ’
บนเวทีไทยรัฐดีเบต เมื่อวันที่ 18 เมษายน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ได้บอกว่า “ประเด็นนี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งของความคิดกันมากมาย” หน้าที่ของสภาฯ คือการคลี่คลายความขัดแย้งโดยสันติวิธี
“เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแทนที่จะใช้วิธีที่เป็นความรุนแรง เราไปคุยกันในสภาฯ ใช้ปัญหาเข้าไปแก้ไข อันนี้เราจะรับฟัง และเรามีผู้แทนประชาชนไปรับฟังจากประชาชน” นพ.พรหมินทร์ กล่าว
ตอกย้ำคำแถลงของพรรคก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 มกราคม หลังจากที่คณะราษฎรยกเลิก ม.112 ได้เรียกร้องให้พรรคแสดงท่าทีและจุดยืนต่อข้อเรียกร้องของ ‘ตะวัน-แบม’ ที่ระบุว่า “ควรสนับสนุนส่งเสริมผลักดันให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง หากมีผลเป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเรายินดีสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดผล”
พรรคไทยสร้างไทย: ตัวบทไม่มีปัญหา แต่ยินดีรับฟังความเห็นต่าง
“อย่างแรกเลย ต้องเข้าไปพูดกัน สำหรับไทยสร้างไทย ตัวบทไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาการบังคับใช้” คือความเห็นของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย บนเวทีไทยรัฐดีเบต วันที่ 18 เมษายน “เราประชาชนธรรมดายังมีกฎหมายหมิ่นประมาท องค์ประมุขทุกประเทศก็มีกฎหมาย แต่ประเทศไทยใช้ผิด คือไปใช้เป็นคดีการเมือง กลายเป็นบอกว่า คดีนี้เป็นคดีการเมืองหมด
“ประเด็นสำคัญคือการใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ดันถูกไปเรียกว่าเป็นกฎหมายทางการเมือง กำจัดกันทางการเมือง นี่คือปัญหาหลักที่ทำให้เสียทั้งหมดและไม่เป็นธรรม สิ่งสำคัญคือต้องฟัง ถ้าเอาเข้าสภาฯ เพื่อรับฟัง ดิฉันเห็นด้วย ต้องฟังเด็กด้วย ฟังคนรุ่นใหม่ด้วย ฟังผู้ใหญ่ด้วย เพราะว่ามันเป็นประเด็นที่คนเห็นต่างกันเยอะ”
หากจะสรุป จุดยืนของพรรคไทยสร้างไทยก็คือ
- ไม่ยกเลิกเด็ดขาด เพราะประชาชนธรรมดายังมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง กษัตริย์ในฐานะประมุขก็เช่นเดียวกัน
- แต่ยินดีรับฟังความเห็นต่างทั้งหมด ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อดูแลพระเกียรติได้มากขึ้น และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
พรรคชาติไทยพัฒนา: ทำประชามติ
สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา เคยประกาศไม่แตะ ม.112 มาตลอด อย่างไรก็ดี บนเวทีไทยรัฐดีเบต วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ได้เสนอทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ คือเสนอให้มีการ ‘ประชามติ’ เพื่อฟังเสียงประชาชน
“ผมคิดว่าวันนี้ หลายฝ่ายไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตัวบทกฎหมาย แต่การบังคับใช้ การพิจารณาคดีความ อันนั้นเป็นสิ่งที่เราโยนไปถามประชาชน เขาอยากจะแก้ จะแก้อะไร และไปฟังคนทั้งประเทศมา” วราวุธกล่าว พร้อมเสริมว่า เขาเห็นต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ให้คุยกันในสภาฯ สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา อยากถามทั้งประเทศเลยว่า คนไทยอยากให้ ม.112 ไปในทิศทางไหน
พรรคพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย: รวมใจไม่แก้ไข ม.112
พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย เห็นตรงกันว่า ม.112 แก้ไม่ได้
หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยบอกกับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่า “ไม่แก้แน่นอน แตะไม่ได้” ขณะที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค ได้ปราศรัยเมื่อวันที่ 1 เมษายนว่า โดยรัฐธรรมนูญแล้ว ม.112 แก้ไม่ได้แน่นอน “เพราะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฟังแล้วโปรดเข้าใจไว้ด้วย”
ทางด้านรวมไทยสร้างชาติก็มองว่าไม่มีปัญหา จุติ ไกรฤกษ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวบนเวทีไทยรัฐดีเบตว่า “ประเทศไทยอยู่มา 700 ปี ด้วย 3 สถาบันหลัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องไปเปลี่ยนแปลง” และ “ถ้าไม่อยากคัน อย่าเข้าดงหมามุ่ย ไม่มีใครใช้ให้เข้าไปในดงหมามุ่ย ไปเข้าเอง แล้วก็ไปโทษคนอื่น”
ไม่ต่างจากพรรคภูมิใจไทย ที่มองว่าไม่เป็นปัญหา และควรผลักดันเรื่องการแก้กฎหมายอื่นมากกว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง กทม. ของพรรค ตั้งคำถามบนเวทีเดียวกันว่า “ทำไมต้องเอา ม.112 มาเป็นเงื่อนไขในการถามว่าแต่ละพรรคคิดยังไง” และมองว่า ถ้าประชาชนไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวหรือทำสิ่งที่ก้าวล่วง ก็ไม่มีปัญหาอะไร
พรรคประชาธิปัตย์-ชาติพัฒนากล้า: ไม่แก้ แต่ดูแลการบังคับใช้
พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจุดยืนชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะไม่แตะต้องบทบัญญัติ ม.112 แต่ยอมรับได้หากจะให้มีการดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
“ตลอด 77 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ แนวทางการหาเสียงจึงเลือกวิธีที่จะไม่ก่อผลกระทบและความขัดแย้งขึ้นในชาติ มุ่งสร้างสังคม ไม่มุ่งสร้างสงคราม” ทีมโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของพรรค ตั้งโต๊ะแถลงเมื่อวันที่ 29 เมษายน
ขณะที่หัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวบนเวทีไทยรัฐดีเบตว่า “มันอาจจะมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็ไปแก้ที่การบังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ใช่มายกเลิกตัวบทกฎหมาย หรือมาแก้โดยไม่จำเป็น เพราะเป็นบทบัญญัติที่สำคัญและจำเป็น”
นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้สำนักพระราชวังหรือสำนักราชเลขาธิการเป็นโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น “ถ้าเป็นอย่างนั้น กลายเป็นเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ไปชนกับประชาชนโดยไม่จำเป็น”
คล้ายคลึงกับพรรคชาติพัฒนากล้าที่มี สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค เปิดเผยว่าไม่มีนโยบายในการแก้ไข ม.112 แต่ยอมให้ดูแลการบังคับใช้กฎหมายได้ หากการบังคับใช้นำไปสู่ความไม่เป็นธรรม หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อดูแลให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรม ประกอบด้วยบุคคลจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะตำรวจและอัยการ
พรรคไทยภักดี: เพิ่มความคุ้มครอง ม.112
ไม่ต้องพูดอะไรให้มากมาย สำหรับพรรคที่ประกาศตัวว่าเป็นลิเบอรัล หัวก้าวหน้า แต่รักสถาบัน อย่างไทยภักดี ที่นอกจากจะยืนยันหนักแน่นว่าไม่ลดโทษหรือยกเลิก ม.112 ก็ยังเสนอให้เพิ่มความคุ้มครองในบทบัญญัติมาตรานี้ด้วย
“กฎหมายมาตรานี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ได้เป็นปัญหาต่อพี่น้องประชาชน แต่มีกระบวนการที่ทำให้คนไทยเข้าใจผิด และให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิด” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ชี้แจงบนเวที THE STANDARD DEBATE วันที่ 25 เมษายน ความเข้าใจผิดที่เขาอ้างก็คือ เข้าใจผิดไปว่าคนที่ถูกดำเนินคดีคือผู้ถูกกลั่นแกล้ง แต่สำหรับ นพ.วรงค์ พวกเขาคือคนที่กระทำผิดจริง
ฉะนั้น สิ่งที่ไทยภักดีเสนอคือ ไม่แก้ไขลดโทษ ม.112 ให้คงโทษไว้ตามเดิม แต่จะแก้ไขเพื่อขยายความคุ้มครองของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขณะนี้ ไทยภักดีกำลังมีแคมเปญรวบรวมรายชื่อ ‘เพิ่ม มากกว่าแก้ ม.112 คุ้มครอง สถาบันพระมหากษัตริย์’ เสนอให้แก้ไข 3 ประการ คือ
- ขยายความคุ้มครองกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี
- ขยายความคุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไป
- เพิ่มความคุ้มครองคำว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’
นอกจากนี้ พรรคไทยภักดียังเสนอแก้ประมวลจริยธรรม ส.ส. ห้ามใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหา ม.112
ทั้งหมดนี้คือจุดยืนและความคิดเห็นของหลากหลายพรรคการเมือง ต่อประเด็น ม.112 หนึ่งในประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดของการเลือกตั้งปี 2566