ท่ามกลางผู้คนที่เดินพลุกพล่าน เสียงร้องขอความช่วยเหลือจากใครคนหนึ่ง ไม่ได้เบาถึงขั้นที่โดนสายลมกลบจนหายไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครสักคนยื่นมือเข้ามาจับไว้ หรือเอ่ยปากถามว่า “มีอะไรให้ช่วยหรือเปล่า?”
เพราะทุกคนต่างคิดอยู่ในใจว่า “คงไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีคนมาช่วยเองแหละ”
เมื่อเต็มไปด้วยผู้คน จึงเกิดการกระจายความรับผิดชอบ
มีคนถูกรถชน โดนอันธพาลซ้อม จะโดดตึกฆ่าตัวตาย แม้เหตุการณ์นี้เหล่านี้จะเกิดขึ้นในที่สาธารณะ ท่ามกลางสายตาจับจ้องนับร้อย แต่เหตุใดถึงไร้ซึ่งความช่วยเหลือ มีแต่คนยืนมุงแต่ไม่มีใครยื่นมือ? จริงๆ ต้นตอของความเพิกเฉยไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตสำนึกที่บกพร่องของคนในสังคมอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เกิดจากสภาวะทางจิตใจที่เราเรียกกันว่า Bystander Effect ต่างหาก
Bystander Effect หรือ Bystander Apathy เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบจาก ‘ผู้เห็นเหตุการณ์หรือผู้ที่ยืนดู’ จึงเป็นปรากฏการณ์หนึ่งในทฤษฎีจิตสังคม (Social Psychological Theory) ที่ว่าด้วยการปัจจัยทางจิตวิทยาบางอย่าง ที่ขับเคลื่อนให้ ‘คนจำนวนหนึ่ง’ มีความคิดหรือการกระทำไปในทิศทางเดียวกัน
ปรากฎการณ์นี้อธิบายการเพิกเฉยของผู้คนว่า เมื่อมีผู้เห็นเหตุการณ์มากเท่าไหร่ ความช่วยเหลือจะยิ่งน้อยลงเท่านั้น หรือบุคคลหนึ่งมีแนวโน้มจะช่วยเหลือน้อยลง เมื่อมีผู้อื่นอยู่ด้วย ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า การกระจายความรับผิดชอบ (Diffusion of Responsibility) หรือเกี่ยงความช่วยเหลือไปที่คนอื่นๆ แทน
เพื่อยืนยันคำอธิบายดังกล่าว บิบบ์ ลาตาเน (Bibb Latané) และ จอห์น ดาร์เลย์ (John Darley) ได้ทำการทดลองหนึ่งขึ้นมา โดยแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ให้นั่งทำแบบทดสอบคนเดียว กลุ่มที่ 2 ให้นั่งทำแบบทดสอบร่วมกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ อีก 2 คน และกลุ่มที่ 3 ให้นั่งทำแบบทดสอบกับหน้าม้าที่แกล้งเป็นผู้เข้าร่วมอีก 2 คน จากนั้นก็ปล่อยควันเข้าไปในห้องขณะที่พวกเขานั่งทำแบบทดสอบ เพื่อดูว่าจะมีใครที่แจ้งเรื่องควันกับทีมวิจัยหรือไม่
ผลสรุปออกมาว่า ผู้เข้าร่วมกลุ่มที่ 1 ที่นั่งทำแบบทดสอบคนเดียว มีการแจ้งเรื่องควันถึง 75% ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ที่มีผู้เข้าร่วม 3 คน แจ้งเรื่องควันเพียงแค่ 38% และในกลุ่มสุดท้ายที่มีหน้าม้า 2 คน ซึ่งถูกกำหนดให้สังเกตเห็นควัน แต่เพิกเฉยต่อการแจ้งเรื่อง ส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมเป็นคนแจ้งเองเพียงแค่ 10% และมีผลการทดลองเพิ่มเติมจากลาตาเนและดาร์เลย์ ที่พบว่า ผู้คน 70% เลือกที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่กำลังตกที่นั่งลำบาก ถ้าพวกเขาเป็นพยานเห็นเหตุการณ์เพียงแค่คนเดียว และมีเพียง 40% เท่านั้นที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อมีคนอื่นอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางจิตวิทยาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจของผู้เห็นเหตุการณ์ และทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่เข้าไปช่วยเหลือคนที่กำลังลำบาก ได้แก่
- ความฉุกเฉินของสถานการณ์ : ระดับความฉุกเฉินและความอันตราย ส่งผลต่อระดับความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน หากรู้สึกว่าสถานการณ์นั้นอันตรายมากถึงขั้นเสียชีวิต ผู้คนจะมีแรงกระตุ้นให้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือมาก เพราะถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง พวกเขาอาจจะรู้สึกเสียใจในอนาคต
- ความคลุมเคลือและผลกระทบของสถานการณ์ : ความคลุมเคลืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจช่วยเหลือ เพราะถ้าหากมีความคลุมเคลือสูง ผู้คนอาจลังเลที่จะยื่นมือเข้าไป เพราะไม่รู้ว่าคนในเหตุการณ์ต้องการความช่วยเหลือจากเราจริงๆ หรือไม่ ตัวเองจะได้รับอันตรายไปด้วยหรือเปล่า
- ความสัมพันธ์ของคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ : หากผู้เห็นเหตุการณ์รู้จักหรือรู้สึกมีอะไรคล้ายคลึงกับคนที่กำลังตกอยู่ในอันตราย ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะเข้าไปช่วยเหลือมากขึ้น ปัจจัยนี้อาจรวมถึงความแตกต่างด้านวัฒนธรรมได้เช่นกัน เพราะในบางประเทศการพูดคุยหรือเข้าไปช่วยเหลือคนแปลกหน้ายังคงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย และเป็นไปได้ว่าคนแปลกหน้าคนนั้นจะหาผลประโยชน์จากเราแทน
- สภาพแวดล้อมของสถานการณ์ : ผู้เห็นเหตุการณ์มีแนวโน้มที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ หากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาคุ้นเคย เพราะพวกเขารู้และมั่นใจว่าจะต้องทำยังไง ไปหาความช่วยเหลือจากที่ไหน เช่น รู้ตำแหน่งป้อมยาม รู้ตำแหน่งโรงพยาบาล หรือรู้ตำแหน่งทางออกฉุกเฉิน
อุทาหรณ์ของการเพิกเฉย ที่นำไปสู่ความหดหู่
เมื่อเกิดการกระจายความรับผิดชอบ การจะมีใครสักคนเอ่ยปากจะช่วยเหลือจึงใช้เวลานาน จนบางครั้งเหตุการณ์ก็บานปลายจนยากจะแก้ไขได้ทัน อย่างโศกนาฏกรรมของ แคทเธอรีน เจโนวีส (Catherine Genovese) หรือ คิตตี้ เจ้าของบาร์วัย 28 ปี ซึ่งถูกฆาตกรรมโดยมีพยานรับรู้เหตุการณ์ราว 38 คน แต่ไม่มีสักคนที่เข้าไปช่วยเหลือ และเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงอุทาหรณ์จากปรากฏการณ์ bystander effect ได้เห็นภาพชัดเจนที่สุด
โดยรายละเอียดของคดีเล่าว่า เมื่อประมาณตี 3 กว่าๆ ของวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1964 คิตตี้เลิกงานจากบาร์ของเธอและกำลังขับรถกลับที่พัก ในขณะนั้นเธอก็ถูกชายคนหนึ่งขับรถสะกดรอยตามไปเรื่อยๆ จนเมื่อเธอจอดรถ ชายคนนั้นได้วิ่งไล่ตามและใช้มีดยาวแทงเธอที่ข้างหลัง 2 ครั้ง
คิตตี้ส่งเสียงร้องทั้งน้ำตาและตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนบริเวณนั้น ซึ่งใกล้ๆ กันก็มีอพาร์ตเมนต์ที่เต็มไปด้วยผู้พักอาศัยหลายคน แต่พวกเขาเหล่านั้นเพียงแค่ลุกมาเปิดไฟ เปิดหน้าต่าง สังเกตเหตุการณ์อยู่เงียบๆ ในห้อง บ้างก็ตะโกนออกมาห้ามปราม แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครกล้าออกมาช่วยเหลือเลยสักคน
สถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่โชคร้ายที่มันเป็นเพียงแค่การคิดไปเอง เพราะคนร้ายเห็นว่าผู้คนเลิกสนใจแล้ว จึงกลับมาแทงคิตตี้ซ้ำอีกหลายแผลจนเธอแน่นิ่ง แล้วลงมือข่มขืนจนเสร็จกิจก่อนจะหนีหายไป (สามารถอ่านรายละเอียดคดีเพิ่มเติมได้ที่ โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครได้ยิน : ‘Genovese syndrome’ เมื่อผู้คนเพิกเฉยต่อเหตุการณ์รุนแรง)
หากลงลึกมากไปกว่านี้ก็มีแต่จะหดหู่ แต่นับว่าโศกนาฏกกรมครั้งนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับสังคม และทำให้นักวิชาการและนักจิตวิทยาออกมาหาคำอธิบายปรากฏการณ์และพฤติกรรมดังกล่าวว่า ทำไมไม่มีแม้แต่สักคนเดียวที่คิดจะโทรแจ้งตำรวจหรือเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ตรงหน้ารุนแรงขนาดนั้น ซึ่งก็ได้คำอธิบายว่าเป็น bystander effect แต่ด้วยโศกนาฏกรรมครั้งนี้ค่อนข้างโด่งดัง จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งด้วยนามสกุลของคิตตี้ว่า Genovese Syndrome
การเพิกเฉยนี้ทำให้ความช่วยเหลือในสังคมค่อยๆ ลดลง
เพราะต่างคนต่างมีความคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง
ไม่ต้องเข้าไปยุ่งหรอก หรือคิดว่าไม่มีเราสักคน คนอื่นก็คงเข้าไปช่วยเองแหละ
แต่เมื่อทุกคนคิดแบบเดียวกันหมด ทีนี้ใครล่ะที่จะเข้าไปช่วยเหลือจริงๆ?
ในทางกฎหมายอาญาจึงได้มีการกระตุ้นจิตสำนึกให้คนในสังคมเพิกเฉยต่อเหตุการณ์รุนแรงน้อยลง หรือที่เรียกว่ากฎหมายพลเมืองดี (Good Samaritan Laws) เช่นในประเทศไทยก็มีกฎหมายมาตรา 374 ที่ว่าด้วย ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย แล้วสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้โดยไม่เกิดอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่น แต่ไม่เข้าไปช่วยตามความจำเป็น ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โศกนาฏกรรมของคิตตี้และผลการศึกษาต่างๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างของความเพิกเฉยในยุคก่อน แต่เมื่อเราก้าวเข้ามาในยุคศตวรรษที่ 21 เส้นทางสัญจรที่ว่านี้ได้ย้ายมาอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งมีผู้คนเดินผ่านไปผ่านนาทีต่อนาที ทำให้บางครั้ง ผู้เห็นเหตุการณ์อาจเหมารวมไปถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคน ที่เห็นการกระทำกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) แต่ร่วมกดไลก์ กดแชร์ และคอมเมนต์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำนั้นไปในที่สุด Bystander Effect จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์
ตระหนักถึงกลไก เพื่อกระตุ้นให้เกิดความช่วยเหลือ
เมื่อต่างคนต่างเพิกเฉย จึงไม่อาจยั้งความสูญเสียให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเผชิญกับสถานการณ์รุนแรงตรงหน้า และมีคนกำลังร้องขอความช่วยเหลือท่ามกลางคนนับร้อยที่สัญจรไปมา อยากให้ลอง ‘ตระหนัก’ ถึงกลไกการทำงานของปัจจัยทางจิตวิทยานี้ว่า มันผลักให้เราเดินออกห่างจากการให้ความช่วยเหลือยังไงบ้าง และนึกถึงผลกระทบที่ตามมาว่า หากทุกคนคิดแบบเดียวกัน แล้วคนตรงหน้าจะได้รับการช่วยเหลือได้ยังไง
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องวิ่งไปรับกระสุนแทนใครนะ
แค่ช่วยเหลือเท่าที่เป็นไปได้ก็พอ
หรือถ้าเราตกอยู่ในสถานะของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเสียเอง วิธีที่จะสร้างแรงกระตุ้นทำให้คนอื่นรู้สึกว่าพวกเขาควรจะยื่นมือเข้ามาช่วย อาจทำได้ด้วยการเป็นการ ‘แยก’ คนคนนั้นออกจากความเป็นฝูงชนเสียก่อน เช่น มองหาใครสักคนที่เห็นเหตุการณ์ของเรา สบตาเขา และออกปากขอความช่วยเหลือโดยตรง ซึ่งนั่นจะทำให้เขาปฏิเสธเรายากขึ้น และถ้าจะให้ดี ลองขอความช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงลงไปเลย เช่น เรียกรถพยาบาลให้ได้มั้ย เข้ามาช่วยพยุงที หรือพอจะไปตามใครมาช่วยได้หรือเปล่า แบบนั้นก็จะทำให้ผู้เห็นเหตุการณ์รู้ว่าต้องทำอะไรมากขึ้น
ลองสังเกตว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงตรงหน้า เราถูก Bystander Effect ครอบงำกระบวนความคิดเอาหรือเปล่า ก่อนที่สุดท้าย empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) จะค่อยๆ เลือนหายไป กลายเป็น apathy (ความไม่แยแส) แทน และถ้ามองย้อนดูตัวเราเอง ก็คงอยากได้รับความช่วยเหลือจากใครสักคนที่เดินผ่านไปผ่านมาเช่นกัน