ทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทย หนึ่งในนั้นคือประเด็นเรื่องของการกำหนดสายการเรียน ซึ่งเด็กๆ ที่เลือกเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องมานั่งตัดสินใจกันว่าจะเลือกเรียนสายวิทย์ หรือจะไปทางสายศิลป์กันดี? แล้วพอจะสอบแต่ละทีก็มีปัญหาวุ่นวายตามอีกหลายครั้ง ซึ่งเราได้อธิบายเรื่องปัญหาการสอบไว้ในคลิปนี้ https://youtu.be/ry9d_RLWgaw
กลายเป็นว่าทางเลือกของเด็กถูกกำหนดให้แคบและอาจไม่รองรับกับความชอบความสนใจของพวกเขา กลายเป็นปัญหาเรียนแล้วไม่มีความสุข ไม่สนุก หรือไม่ชอบ เรียนให้ผ่านไปวันๆ เพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองสนใจหรือถนัดเรื่องไหน และท้ายที่สุดก็ส่งผลให้เกิดความเครียดตามมา
ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา The MATTER จึงพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแผนการเรียนสายวิทย์-ศิลป์ถึงจุดเริ่มต้นความเป็นมา และเราขอสรุปให้ดูกันอีกครั้งตั้งแต่จุดเริ่มต้น ปัญหา ไปจนถึงทางออกที่ทำได้จริง
ตอนเริ่มต้นเราได้ตั้งโพลสำรวจความเห็นหากมีการยกเลิกสายวิทย์-ศิลป์ และมีคนเข้ามาให้ความเห็น 7265 คน ผลที่เราได้คือ
– เห็นด้วยให้ยกเลิก 55.06%
– คงระบบไว้ แต่มีวิชาเลือกเพิ่ม 28.9%
– ไม่ยกเลิก 0.68%
– อื่นๆ 15.36%
นอกจากนี้เรายังลงพื้นที่ไปสำรวจความเห็นของนักเรียนว่าพวกเขามีความเห็นยังไงบ้าง ตามไปดูได้ที่นี่นะ : https://youtu.be/wgIZ6csgbzY
1. จุดเริ่มต้นการแบ่งสายการเรียนวิทย์-ศิลป์
จุดเริ่มต้นของการแบ่งสายการเรียนนั้นมาจากแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2476 ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อรองรับการ ‘ศึกษาต่อ’ ในระดับอุดมศึกษา แต่ด้วยปัญหาว่าการแบ่งสายการเรียนที่มีจำนวนน้อยนั้นจะทำให้เกิดการจำกัดกรอบการเรียนรู้ของเด็กๆ ทำให้ในปี พ.ศ.2548 กพฐ. เสนอยกเลิกการแยกสาย แต่ก็ยังคงเป็นเพียงข้อเสนอ เพราะผ่านไปเกือบ 20 ปี ตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ถึงการปรับเปลี่ยนหลักสูตร
อ่านต่อ : https://thematter.co/social/education-thai-high-school/103934
2. ระบบการศึกษาต่างประเทศที่ไม่จำเป็นต้องมีสายวิทย์-ศิลป์
เพราะเราอยากรู้ว่าที่ต่างประเทศเขากำหนดแผนการเรียนแบบไทยกันมั้ย หรือเขามีการวางแผนการเรียนการสอนสำหรับเด็กมัธยมปลายกันยังไง เลยชวนไปสำรวจประเทศที่ให้อิสระในการทำหลักสูตรที่เปิดกว้างสำหรับเด็กๆ มาให้ดูกัน
– ฟินแลนด์ : ให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้
– สวิตเซอร์แลนด์ : ให้อิสระโรงเรียนเพื่อจัดหลักสูตร
– เกาหลีใต้ : พัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน
– ออสเตรเลีย : เลือกเรียนวิชาตามที่ชอบ
– สหรัฐอเมริกา : เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเอง
อ่านต่อ : https://thematter.co/social/education-system-in-others-country/103757
3.ต้นแบบห้องเรียนไทยที่เป็นไปได้นอกจากสายวิทย์-ศิลป์
แน่นอนว่าโมเดลของต่างประเทศอาจจดูไกลตัวเกินไป เราจึงลองสำรวจว่าแล้วในไทยเองมีโรงเรียนไหนบ้างมั้ยที่ไม่ใช้การแบ่งสายการเรียนแค่วิทย์-ศิลป์ ซึ่งก็ได้ค้นพบเรื่องราวที่น่าสนใจเมื่อมีโรงเรียนที่เปลี่ยนสายการเรียนให้มีความหลากหลายตามความสนใจของเด็ก แต่ก็ยังสอดคล้องกับระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเด็กๆ ที่ได้เรียนก็ยังได้ค้นหาตัวเองและมีความสุขกับการเรียน
ซึ่งในโรงเรียนของไทยตอนนี้ที่มีการสร้างระบบการเรียนใหม่มาอย่างต่อเนื่อง มีให้เห็นด้วยกัน 2 โมเดล ได้แก่
3.1 เลือกเรียนตาม Tracks หรือวิชาเอก
Tracks หรือวิชาเอกเหล่านี้ คือการนำเอาสายวิทย์-ศิลป์มาแตกแขนงแยกย่อยลงไปอีก เพื่อให้เด็กๆ ได้โฟกัสกับวิชาที่ตัวเองสนใจจริงๆ ไม่ต้องเรียนรวมหลายๆ วิชาอย่างกว้างๆ โดยไม่เจาะจง เช่น
- โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร : เป็นการเรียนการสอนที่มีวิชาเอกให้เลือก 24 วิชาเอก ช่วยให้เด็กอยู่กับสิ่งที่สนใจและถนัด
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย : ใช้ระบบ Tracks ที่มีทั้งสิ้น 14 Tracks รวมทั้งยังมีวิชาเลือกเสรีเพื่อให้เด็กๆ ได้ลองเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจนอกเหนือจาก Tracks ที่เรียนเพิ่มเติม
อ่านต่อ : https://thematter.co/social/tracking-model-course-in-thailand/104235
3.2 เลือกวิชาเรียนตามความชอบได้อย่างยืดหยุ่น
- โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์
หลายคนอาจคุ้นชื่อกับ โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ ด้วยการเรียนการสอนที่แตกต่างไป ทั้งการใส่ชุดไปรเวทไปเรียน การไม่มีระบบเกรด และการให้เด็กๆ ได้เลือกเรียนวิชาที่ชอบเองแบบไม่มีกรอบของวิทย์-ศิลป์มาครอบ เป็นการเรียนที่เรียกว่า Personalize Learning ซึ่งจะมีครูที่ปรึกษาคอยแนะนำและให้ ‘Learning Pathway’ หรือแนวทางการเรียนของเขาเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ
โดยที่สาธิตธรรมศาสตร์จะมีระบบคือ Competency-Based Education ซึ่งเด็กสามารถเลือกวิชาเรียนได้เอง เลือกได้เองว่าอยากวัดผลอย่างไร เช่นเป็นการสอบ การแสดงความสามารถ เป็นชิ้นงาน หรือแม้แต่เป็นการอัดวิดีโอ ลงยูทูปให้คุณครูประเมิน
“สิ่งที่เรายึดหยุ่นคือเวลาที่ใช้เรียน วิธีการสอน เครื่องมือ หรือแม้แต่วิธีการประเมิน ทำยังไงก็ได้ แต่ขอให้เขาได้เรียน”
ดูคลิป : https://youtu.be/ninIvAcuVG0
อ่านบทสัมภาษณ์ : https://thematter.co/social/satit-tu/104705
ซึ่งนอกจากการไปดูโมเดลการศึกษาของโรงเรียนแล้ว เราจึงไปพูดคุยกับ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจารย์ และวิทยากรหลายสถาบัน ถึงปัญหาและการที่ระบบการศึกษาไทยจำกัดกรอบให้เด็กเลือกได้เพียงสองเส้นทาง ซึ่ง วีรยุทธ บอกกับเราว่า การแบ่งสายการเรียนนั้นได้ส่งผลกระทบให้คนเรียนเองก็ขาดมิติ ทั้งๆ ที่ในโลกปัจจุบันทุกสิ่งถูกเชื่อมโยงเข้าหากันทั้งหมด
“แต่ละศาสตร์มันเชื่อมกันอยู่ตลอดเวลา แต่การศึกษาไปบังคับให้มันตัดออกจากกัน”
อีกทั้งปัญหาของสายวิทย์-ศิลป์ยังอยู่ที่เรื่องการนำไปสอบเข้าศึกษาต่อ จากกฎเกณฑ์ที่การเรียนสายวิทย์สามารถสอบเข้าได้ทุกคณะ แต่สายศิลป์สอบเข้าได้บางคณะ นำมาซึ่งความเชื่อผิดๆ ว่าเด็กเรียนศิลป์นั้นเก่งไม่เท่าเด็กสายวิทย์ และกลายเป็นความกังวลที่ส่งต่อไปยังครอบครัว ทั้งๆ ที่เหตุผลจริงๆ นั้นเพราะแผนการเรียนวิทย์นั้นได้เรียนครบทั้งวิชาของวิทย์และศิลป์ จึงสามารถนำเอาเกรดไปสอบเรียนต่อได้ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความใครเก่งกว่าใคร
ซึ่งทางออกของปัญหานี้อาจไม่สามารถแก้ไขได้จากฝั่งของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากฝั่งมหาวิทยาลัย เพราะสุดท้ายแล้วการเรียนในรั้วโรงเรียน ปลายทางก็เพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อ ดังนั้นมหาวิทยาลัยเองก็อาจจะต้องเปิดกว้างมากกว่าดูแค่จบแผนการเรียนใด แต่หากโรงเรียนมีวิชาเลือกที่ให้เด็กเลือกเรียนทั้งวิทย์และศิลป์ได้ เมื่อสอบเข้ามหาลัย เขาก็ควรนำเอา ‘วิชาที่เรียน’ มาใช้วัดผลการสอบเข้าได้เหมือนกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาการแบ่งสายการเรียนที่หลากหลายก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อยู่อีก เช่น จำนวนครูไม่เพียงพอ งบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องไปคุยกันในระดับนโยบายของรัฐ
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม : https://thematter.co/social/education/interview-weerayuth/104289